ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์สภากาชาดไทยออกให้ให้บริการแก้ไขโรคปากแหว่งเพดานโหว่ถวายเป็นพระราชกุศล

วันที่ลงข่าว: 16/05/17

        วันที่ 15 พ.ค.60 นายพิบูลย์ หัตถกิจโกศล ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานเปิดโครงการศัลยกรรมตกแต่งแก้ไขปากแหว่าง เพดานโหว่และความพิการอื่น เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยมีนายแพทย์วีระศักดิ์ ครองลาภเจริญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ กล่าวรายงาน พร้อมด้วยนายแพทย์พิชิต ศีริวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์สภากาชาดไทย นางอังคณา หัตถกิจโกศล นายกเหล่ากาชาดจังหวัดเพชรบูรณ์ สมาชิกเหล่ากาชาด คณะแพทย์พยาบาลและประชาชนผู้เข้าร่วมโครงการเข้าร่วมพิธีเปิด ที่ห้องประชุมแสงจันทร์ โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ อำเภอเมืองฯ จังหวัดเพชรบูรณ์

        สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย ได้เล็งเห็นปัญหาโรคปากแหว่ง เพดานโหว่และเพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงระดมศัลยแพทย์ตกแต่ง ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ วิสัญญีแพทย์ และพยาบาลอาสาสมัครจากที่ต่างๆ รวมทั้งหน่วยศัลยศาสตร์ตกแต่งและเสริมสร้าง ภาควิชาศัลยศาสตร์ ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำโครงการศัลยกรรมตกแต่งแก้ไขปากแหว่ง เพดานโหว่และความพิการอื่นขึ้น เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวและเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้ป่วยให้ดีขึ้น สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข โดยให้ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดแก้ไขในระยะเวลาที่เหมาะสม อีกทั้งสนับสนุนด้านวิชาการแก่โรงพยาบาลในส่วนภูมิภาคและพัฒนาปรับปรุงแนวทางการรักษาผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่และผู้พิการทางศัลยศาสตร์ ตกแต่งอื่นๆ โดยโครงการได้ดำเนินมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 - พ.ศ. 2559 มีผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดแก้ไขไปแล้ว 5,463 ราย และในปีงบประมาณ 2560 มีจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นเป้าหมาย ของโครงการนี้ จากทั้งหมด 6 จังหวัด (เลย กำแพงเพชร ยะลา เพชรบูรณ์ สกลนคร และกาญจนบุรี) โดยมีกำหนดออกปฏิบัติงานระหว่างวันที่ 15-19 พฤษภาคม 2560 ที่โรงพยาบาลเพชรบูรณ์

        โรคปากแหว่งเพดานโหว่เป็นความพิการของใบหน้าแต่กำเนิดที่พบมากที่สุดโดยมีอัตราเกิดความพิการปากแหว่ง เพดานโหว่ ประมาณ 1 ต่อ 650 ของทารกเกิดมีชีพ และความพิการเพดานโหว่ประมาณ 1 ต่อ 2,500 ต่อทารกเกิดมีชีพ ความพิการนี้ทำให้ทารกมีความลำบากในการดูดนมและรับประทานอาหาร มีการสำลักอาหาร ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่าย เช่น ปอดบวม หูน้ำหนวก ในด้านการออกเสียงลักษณะเสียงขึ้นจมูกจะทำให้พูดไม่ชัด

ที่มาของข่าว สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก