ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ออทิสติก สังคมผู้ปกครอง ต้องเข้าใจ

วันที่ลงข่าว: 05/05/17

“ออทิสติก” (Autistic Disorder หรือ Autism) เป็นคำที่สังคมคุ้นหูมากขึ้นในระยะหลังๆ โดยเฉพาะกับคนเป็นพ่อเป็นแม่ที่กลัวว่าลูกของตน

เกิดมาแล้วจะมีภาวะดังกล่าวหรือไม่ บทความ“โรคออทิสติก คืออะไร” ซึ่งเขียนโดย นพ.ทรงภูมิเบญญากร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒอธิบายว่า ออทิสติก เป็นความผิดปกติของสมองตั้งแต่กำเนิดที่ส่งผลต่อพัฒนาการทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ พัฒนาการด้านการสื่อสาร ด้านการเข้าสังคม และด้านการเล่น อาการสามารถจำแนกตามพัฒนาการแต่ละด้านได้ดังต่อไปนี้

 

1.พัฒนาการด้านการสื่อสาร เช่น พูดช้าพูดภาษาแปลกๆ ไม่ส่งเสียงเรียก บอกความต้องการโดยการชี้นิ้ว ทำตามคำสั่งง่ายๆ ไม่ได้ 2.พัฒนาการด้านการเข้าสังคม เช่น ไม่สบตาเวลาพูด ดูเฉยเมยไร้อารมณ์ ปรับตัวเข้ากับเพื่อนได้ลำบาก ไม่แสดงอารมณ์ดีใจหรือเสียใจ 3.พัฒนาการด้านการเล่น เช่น เล่นซ้ำๆ มองซ้ำๆ สนใจในรายละเอียดมากเกินไป ชอบเล่นตามลำพัง ไม่สนใจการเล่นกับเพื่อน ไม่สามารถเล่นตามกฎเกณฑ์

 

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน เชื่อกันว่าภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์และการคลอด เช่น เลือดออกระหว่างตั้งครรภ์หรือคลอดก่อนกำหนดเป็นสาเหตุสำคัญ นอกจากนี้ปัจจัยทางพันธุกรรมก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ทั้งหมดนี้ทำให้การป้องกันเป็นไปได้ยาก แพทย์จึงมุ่งเน้นไปที่การวินิจฉัยโรคให้ได้ตั้งแต่แรกเริ่มเพื่อผลการรักษาที่ดี

 

..โรคกลุ่มออทิสติกพบได้บ่อยถึงร้อยละ 1อาการสามารถพบได้ในเด็กตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไปในเด็กที่เริ่มมีอาการเบื้องต้นผู้ปกครองมักคิดว่าเป็นเด็กขี้อาย รักสงบ หรือบางคนเข้าใจว่าเป็นเด็กสมาธิดี จดจ่อของเล่นได้นานเด็กออทิสติกมักมีอาการที่ชัดเจนมากขึ้นเมื่ออายุ 3 ปี..

 

“แนวหน้าวาไรตี้” มีโอกาสไปเยี่ยมชม “ศูนย์บริการพัฒนาศักยภาพออทิสติก จ.ขอนแก่น” ตั้งอยู่เลขที่ 107/10 หมู่ที่ 12ริมบึงทุ่งสร้าง ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น เป็นศูนย์ฯ ที่เกิดขึ้นจากการผลักดันของกลุ่มผู้ปกครองเด็กออทิสติกขอนแก่น รวมกลุ่มนำเสนอโครงการก่อตั้งศูนย์ผ่านสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดขอนแก่น ไปยังกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จนได้จัดตั้งในปี 2548

 

 

 

นางวัชราพร ธวัชวะชุม ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติก จ.ขอนแก่น กล่าวว่า โรคออทิสติกมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของสมอง ทำให้มีความบกพร่องต่อพัฒนาการหลายด้าน ได้แก่ พัฒนาการด้านภาษาและสังคมล่าช้า มีพฤติกรรมความสนใจและการกระทำที่ช้าและจำกัด โดยการกระทำดังกล่าวจะเกิดก่อนอายุ 3 ขวบ ซึ่งมีความรุนแรงของแต่ละโรคในกลุ่มแตกต่างกันขึ้นอยู่กับพัฒนาการทางภาษา ระดับ

สติปัญญา (IQ) และความผิดปกติอื่นๆ โดยเฉพาะพัฒนาด้านสังคม

 

นางวัชราพร กล่าวต่อไปว่า ความแตกต่างของเด็กออทิสติกกับเด็กปกติจะสังเกตได้ เช่นเด็กปกติจะดูหน้าแม่เมื่อได้ยินเสียงเรียกก็จะหันไปตามเสียง และเรียนรู้คำอื่นๆ เพิ่มเติมได้ ขณะที่เด็กออทิสติกจะไม่มองตา เหมือนคนหูหนวก จากที่เคยพูดอยู่ๆ ก็หยุดพูดขึ้นมาแบบดื้อๆ หรือเด็กปกติจะร้องเมื่อเจอคนแปลกหน้า ร้องเมื่อหิวหรือหงุดหงิด ที่สำคัญจะจำหน้าแม่ได้ ต่างจากเด็กออทิสติกที่จำไม่ได้ ไม่สนใจคนรอบข้างและมักทำร้ายคนโดยไม่มีสาเหตุ

 

“ขณะที่การเล่น เด็กปกติจะชอบเปลี่ยนของเล่นบ่อย มีจุดหมาย ชอบความสุขและไม่ชอบความเจ็บปวด ส่วนเด็กที่เป็นมักจะเล่นอย่างใดอย่างหนึ่งนานๆ ชอบโบกมือ ดม-เลียของเล่น และไม่รู้สึกเจ็บปวด ขณะเดียวกันก็ชอบทำร้ายตัวเอง”นางวัชราพร กล่าว

 

เมื่อถามว่าภาระหน้าที่ของบรรดา “พี่เลี้ยง”เป็นอย่างไรบ้าง? ต้องบอกว่า “หนักเอาเรื่อง”ผอ.ศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติก จ.ขอนแก่นอธิบายว่า ครู 1 คน จะดูแลรับผิดชอบเด็ก 5 คน ซึ่งถือว่า “หนัก” เพราะแทบไม่มีเวลาพักผ่อนเลย จะปล่อยให้เด็กคลาดสายตาไม่ได้เด็ดขาด และเมื่อเด็กมีอาการกำเริบ ครูที่อยู่บริเวณใกล้เคียงจะต้องรีบมาช่วยกันทำให้เด็กสงบ โดยต้องใช้ครูประมาณ 3-4 คน

 

“การดูแลเด็กออทิสติกถึงจะรู้สึกว่าดูแลยาก แต่ก็ไม่ยากเกินไป เพียงแค่ทุกคนในครอบครัว ควรมีการรับรู้ร่วมกัน มีการพูดคุยกันเพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน และช่วยกันหาข้อมูลเพิ่มเติมจากหลายๆ แหล่ง ว่าออทิสติกคืออะไร ควรปรึกษากันเพราะจะช่วยให้วางแผนการช่วยเหลือเด็กเป็นไปในแนวทางเดียวกันได้เหมาะสม เพราะยิ่งมีเวลาในการสอน ในการเล่น และพูดคุยกับเด็กมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งสามารถช่วยเหลือให้เด็กออทิสติกมีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้เร็ว” ผอ.ศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติก จ.ขอนแก่น ฝากข้อคิด

 

 

 

ด้าน นายสมชาย เจริญอำนวยสุข อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กล่าวเพิ่มเติมว่า อยากให้สังคมไทยได้รับทราบถึงการทำงานของผู้ดูแลเด็กออทิสติก ซึ่งเป็นงานที่ “เหนื่อย-หนัก” แม้กระทั่งเทียบกับการดูแลคนพิการประเภทอื่นๆ เนื่องจากคนพิการดูแลเพียงช่วยเหลือเรื่องอาหาร เปลี่ยนเสื้อผ้า หรือเจ็บป่วยก็พาไปรักษา แต่เด็กออทิสติกมีเรื่องของ “ภาวะทางอารมณ์” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และไม่รู้ว่าอาการจะกำเริบขึ้นมาตอนไหน

 

อาทิ เด็กบางคนถ้าเห็นน้ำจะกระโดดใส่ทันที ทำให้ผู้ดูแลต้องคอยระวังและป้องกันทุกอย่าง คนที่ทำงานตรงนี้จะต้องมีความรักในอาชีพและเข้าใจเด็กที่เป็นโรคออทิสติก “เข้าใจในโรคที่เขาเป็น” ต้องปฏิบัติเขาให้เหมือนลูกหลาน และที่สำคัญคือต้องอยู่ระหว่างตอนเด็กมีอาการกำเริบกับผู้ปกครอง เพราะฉะนั้นระหว่างครูกับผู้ปกครองจะต้องทำงานร่วมกันให้ได้

 

“บางครั้งคนทั่วไปยังไม่เข้าใจว่าทำไมเราถึงปล่อยให้เด็กร้องโวยวาย เดินเพ่นพ่านไปทั่ว บางคนก็มาเห็นเรากำลังรุมล็อกเด็ก ที่ต้องรุมเพราะเด็กออทิสติกแรงเยอะมาก ต้องใช้เจ้าหน้าที่ถึง 4 คน ถึงจะเอาอยู่ แต่ปัญหาของเราคือเรื่องของกำลังพลที่มีน้อยนิด ซึ่งเป็นข้อจำกัดของเราในการรับดูแลเด็กออทิสติกในแต่ละศูนย์ และอัตรากำลังของเราส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างเงินเดือนก็น้อย แต่ที่เขายังทำอยู่ได้เพราะว่าเขารักในอาชีพนี้จริงๆ” นายสมชาย ฝากทิ้งท้าย

 

ในปี 2557 กรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีจำนวนเด็กออทิสติกจำนวน 3.7 แสนคนซึ่งอธิบดีในขณะนั้น นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข กล่าวว่า ปัญหาที่พบคือประชาชนยังเข้าใจเรื่องนี้น้อย ทำให้การเข้าถึงบริการน้อยมาก มีเพียงประมาณร้อยละ 15 เท่านั้น พร้อมกับอธิบายว่าเด็กออทิสติกที่มีความผิดปกติทางภาษาและสังคม จะแตกต่างกันที่ระดับสติปัญญา (ไอคิว-IQ) โดยร้อยละ 40 มีไอคิวระดับปกติ ใช้ชีวิตได้เหมือนเด็กทั่วไป

 

ร้อยละ 10 เป็นอัจฉริยะในบางด้าน เช่น การวาดภาพ หรือเล่นดนตรี อีกร้อยละ 20 มีไอคิวต่ำระดับน้อยถึงปานกลาง (50-69) ยังสามารถเรียนร่วมและฝึกอาชีพได้ แต่อาจมีปัญหาพฤติกรรมร่วมด้วย ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 40 มีไอคิวต่ำกว่า 50 เป็นเด็กที่ชอบแสดงอาการก้าวร้าวแบบรุนแรง ต้องได้รับการดูแลต่อเนื่อง ผู้ป่วยออทิสติกต้องการการช่วยเหลืออย่างถูกต้อง เหมาะสม และเข้มข้น โดยผสมผสานวิธีการต่างๆ ทั้งการส่งเสริมพัฒนาการ การจัดรูปแบบการศึกษาที่เหมาะสม การส่งเสริมอาชีพและการมีงานทำ ตลอดจนสวัสดิการสังคมและการดำเนินชีวิตในชุมชน

 

และที่สำคัญ..การเข้าใจและให้โอกาสกับกลุ่มคนพิเศษเหล่านี้ ย่อมช่วยทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้ตามศักยภาพอย่างมีความสุข ทำกิจกรรมต่างๆ ได้เหมือนคนปกติทั่วไป!!!

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์แนวหน้าออนไลน์ วันที่ 10 พฤษภาคม 2560
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก