ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

นายกฯชูอาเซียนก้าวไปอย่าง‘มั่นคง-ยั่งยืน’ผนึกกำลังรับภัยคุกคามการันตีสมาชิกไม่ทิ้งกัน

วันที่ลงข่าว: 01/05/17

นายกรัฐมนตรีไทย ร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนที่ฟิลิปปินส์ เสนอแนะยุทธศาสตร์ก้าวต่อไปอย่าง “มั่นคง และยั่งยืน” เน้นส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์อย่าทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพิ่มความเข้มแข็งภายใน สร้างภูมิคุ้มกันภัยคุกคามต่างๆภัยคุกคามรูปแบบใหม่

 

เมื่อวันที่ 29 เมษายน พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสาระสำคัญของการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่30 ในการประชุมเต็มคณะ(Plenary) ณ ห้องประชุมReception Hall, PICC กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปินส์ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในการเข้าร่วมการประชุมเมื่อเวลา11.15 น.ตามเวลาท้องถิ่นโดยกล่าวว่านายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณ ประธานาธิบดีโรดรีโก โรอา ดูแตร์เต ที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นและขอแสดงความยินดีกับฟิลิปปินส์ในการเป็นประธานอาเซียนในปีนี้

 

“ เป็นวาระอันดีที่อาเซียนก้าวเข้าสู่ปีที่ 50 จึงเป็นโอกาสดีที่จะมาทบทวนอย่างจริงจังว่าประชาคมอาเซียนจะก้าวไปข้างหน้าอย่างไร ให้มั่นคงและยั่งยืน เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของประชาชนทั่วทั้งภูมิภาค ท่ามกลางความคาดหวังมากยิ่งขึ้นจากประชาคมอาเซียนและจากบทเรียนของสถานการณ์การแยกตัวของสหราชอาณาจักรในสหภาพยุโร เพื่อเสริมสร้างอาเซียนให้เป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างเข้มแข็ง และ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

 

ส่งเสริมความมั่นคงมนุษย์

 

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังกล่าวว่าในการก้าวไปข้างหน้าตามวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 ทุกประเทศต้องเร่งปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีอยู่ เพื่อมุ่งหน้าไปสู่การเป็นประชาคมที่ส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์และเชื่อมโยงอย่างสร้างสรรค์กับประชาคมโลก นายกฯจึงมองว่าอาเซียนควรให้ความสำคัญกับประเด็นดังต่อไปนี้ประการแรก อาเซียนควรมีพลวัต นวัตกรรม และเชื่อมโยงอย่างสร้างสรรค์กับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและกับโลก อาเซียนควรให้ความสำคัญกับปัจจัยที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประชาคมอาเซียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมวิสาหกิจเกิดใหม่ (start-ups) การเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งไทยกำลังดำเนินการภายในประเทศตามนโยบาย Thailand 4.0

 

นอกจากนี้การพัฒนาและสร้างASEAN branding สำหรับวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs)เป็นอุตสาหกรรมที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจอาเซียน อาเซียนควรมีระบบและมาตรฐานการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เป็นการเฉพาะให้กับวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อยเพื่อเพิ่มโอกาสสำหรับธุรกิจดังกล่าวในการขอสินเชื่อและการขยายโอกาสในตลาดทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค

 

เสริมคุมเข้มภัยคุกคามทุกรูปแบบ

 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่าประการที่สอง อาเซียนควรเพิ่มความเข้มแข็งภายในและสร้างภูมิคุ้มกันจากภัยคุกคามต่าง ๆโดยเฉพาะจากภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ เป็นที่น่ายินดีที่อาเซียนมีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาหมอกควัน ได้มีการรับรองRoadmapเมื่อปีที่แล้ว อีกทั้งอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์(ACTIP)ได้มีผลใช้บังคับแล้ว

 

ยังมีอีก3 เรื่อง ที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไปคือ1.การจัดระบบความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดน โดยมีระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลและข่าวกรองอย่างมีประสิทธิภาพ 2.การส่งเสริมศักยภาพของอาเซียนในการเผชิญหน้ากับความท้าทายจากการก่อการร้ายและแนวคิดสุดโต่ง โดยดำเนินมาตรการทางด้านการพัฒนาควบคู่กับการต่อต้านการก่อการร้าย ด้วยการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับแนวทางสายกลางความรู้และความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนาและชาติพันธุ์ ตลอดจนการแก้ไขที่รากเหง้าของปัญหาทั้งความยากจน การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการได้รับความไม่เป็นธรรม

 

ชงตั้งศูนย์รับมือภัยคุกคามไซเบอร์

 

อีกทั้ง การรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์โดยการตั้งศูนย์ไซเบอร์อาเซียนซึ่งไทยพร้อมที่จะจัดการประชุมระดมสมองภายในอาเซียนโดยร่วมมือกับหุ้นส่วนนอกภูมิภาค และ 3.การดำเนินการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างเป็นระบบตามโครงการระบบโลจิสติกส์ของการปฏิบัติการด้านการบรรเทาทุกข์และการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินของอาเซียนโดยใช้ประโยชน์จากศูนย์สำคัญๆในภูมิภาคเช่นศูนย์การแพทย์ทหารอาเซียนและศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย

 

นายกรัฐมนตรียังกล่าวอีกว่าประการที่สาม อาเซียนควรเน้นการพัฒนาไปสู่ประชาคมที่ส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมและได้ประโยชน์จากอาเซียนโดยอาเซียน ควรร่วมมือกันในระดับภูมิภาคมากยิ่งขึ้นเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และสร้างหุ้นส่วนกับประเทศนอกภูมิภาค และองค์การระหว่างประเทศเพื่อจัดทำโครงการที่เป็นรูปธรรมอาทิการรักษาสิ่งแวดล้อมภายในภูมิภาค การส่งเสริมการเจริญเติบโตสีเขียว การส่งเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจของสตรี และการแก้ไขปัญหาภาวะทุพโภชนาการสำหรับเด็ก เป็นต้น

 

ในช่วงท้ายนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่าอาเซียนต้องเตรียมความพร้อมในทุกมิติของสังคมในการเข้าสู่สังคมสูงวัยของอาเซียนอย่างมีศักยภาพ โดยอาเซียนควรส่งเสริมให้มีศูนย์สำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องในลักษณะของASEAN Centre for Active Ageing and Innovation

 

แม่น้ำ3สายรับฟังปัญหาเมืองตรัง

 

วันเดียวกัน จ.ตรัง ที่หอประชุมโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นำโดยนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 พร้อม สมาชิก สนช.20คนอาทิ นายกล้าณรงค์ จันทิก ประธานคณะกรรมาธิการการเมือง พล.อ.สกนธ์ สัจจนิตย์ ประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการสังคมกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส พล.อ.ดนัย มีชูเวท ประธานคณะกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น พร้อม นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และ ตัวแทนจากสำนักนายกรัฐมนตรีร่วมพบปะแลกเปลี่ยนความเห็นจากประชาชนในพื้นที่ร่วมหารือกับส่วนราชการต่างๆในห้องประชุมศาลากลางจังหวัดตรัง รับฟังปัญหาอุปสรรคด้านต่างๆเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาภายใต้บทบาทหน้าที่ของสนช.ภายใต้เป้าหมาย”สะท้อนปัญหา นำพาแก้ไข ห่วงใยประชา”ได้แบ่งคณะเล็กลงพื้นที่ต่างๆในจังหวัดตรัง

 

ชี้ลต.จะมีเร็ว-ช้าอยู่กฎหมายลูก

 

นายพีระศักดิ์กล่าวว่าการลงพื้นที่แต่ละครั้งของ สนช.เป็นสะพานเชื่อมแม่น้ำ5สายในการรับฟังปัญหาของประชาชน ก่อนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)เข้ามาบริหารประเทศ ปัญหาต่างๆที่แก้ไขไม่ได้สะสมมานานผ่านมา3ปี ปัญหาต่างๆก็ได้รับการแก้ไขได้ รวมทั้งเรื่องเศรษฐกิจที่ค่อยๆขับเคลื่อนเติบโต ขณะที่ ด้านความมั่นคง ก็เดินหน้าไปสู่ความปรองดอง ส่วนการเลือกตั้งใหญ่นั้น เป็นนโยบายของ คสช.อยู่แล้ว จะเลือกเร็ว หรือช้า ก่อนหรือหลังการเลือกตั้งท้องถิ่นทาง คสช.จะประเมินสถานการณ์ อาจจะเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนก็ได้ ก็ขึ้นอยู่กับกฎหมายลูก

 

สนช.คาด ลต.ใหญ่ ไม่เกินพ.ย.61

 

ด้านนางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ สนช.และ ที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) กล่าวว่าสนช.มีหน้าที่หลักในการออกกฏหมายโดยที่อยู่มา ยังไม่ถึง4ปี สนช.อออกฏหมายไปแล้ว 239 ฉบับ ถือว่ามากกว่ายุคส.ส.และส.ว.กฎหมายที่ออกส่วนใหญ่เป็นเรื่องความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชนบางฉบับในภาวะปกติ กฏหมายบางฉบับไม่สามารถออกได้และรัฐธรรมนูญ มาตรา77ได้กำหนดเรื่องของการออกกฏหมาย ซึ่งต่อไปการออกกฏหมายจะต้องทำตาม ม.77จะออกเฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ต้องไม่สร้างภาระให้ประชาชน

 

หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ทุกอย่างก็เดินหน้าตามโรดแม็ปเพื่อเข้าสู่เลือกตั้งใหญ่ซึ่งสนช.จะต้องออกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมีเวลาบังคับให้ออกภายใน 240วันคาดจะเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์2561แล้วต้องส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ มีเวลา10วัน ถ้าเห็นไม่ตรงกันก็มีเวลาแก้ไข10วัน คาดเสร็จสิ้นในเดือนมีนาคม2561 เมื่อแก้ไขเสร็จเรียบร้อย ก็นำร่างพ.ร.ป.ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธย ภายใน90วัน คาดว่าน่าจะประมาณเดือนมิถุนายน เมื่อประกาศใช้ พ.ร.ป.แล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้ง จะมีเวลา150วันเพื่อเตรียมจัดการเลือกตั้งคาดว่าจะมีการเลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน2561 หากไม่มีเหตุใดเปลี่ยนแปลงหรืออาจเร็วกว่านั้น

 

ปชช.เชียร์นายกฯอยู่นานๆปท.สงบ

 

จากนั้นได้เปิดให้ประชาชนได้สะท้อนปัญหาโดยปัญหาส่วนใหญ่เป็นประเด็นเกี่ยวกับเอกสารสิทธิ์ที่ดินทำกิน ปัญหาแหล่งน้ำ ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาความต้องการในพื้นที่ การเลือกตั้งท้องถิ่นและวาระการดำรงตำแหน่งกำนันผู้ใหญ่บ้านและเรียกร้องให้ช่วยในด้านการติดตามเงินช่วยเหลือจากภัยพิบัติ น้ำท่วม3,000บาท

 

ทั้งนี้ ได้มีประชาชนคนหนึ่ง ลุกขึ้นขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯที่ทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย พร้อมชื่นชม อยากให้พล.อ.ประยุทธ์ อยู่บริหารต่อนานๆบ้านเมือจะได้สงบ ถ้ารีบให้มีการเลือกตั้ง บ้านเมือง จะกลับไปเป็นเหมือนเดิม

 

วิษณุยันครม.ใหญ่กว่ากก.ยุทธศาสตร์

 

ขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงอำนาจของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่จะมีขึ้นตามพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ฯและอำนาจของรัฐบาลว่า ถ้าถามว่าใครใหญ่กว่ากันก็เป็นเหมือนนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.ระบุว่าครม.ใหญ่กว่า เนื่องจากครม.สามารถเสนอเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ชาติได้แต่การจะเปลี่ยนแปลงจะต้องผ่านขั้นตอนเช่นเดียวการยกร่างยุทธศาสตร์เช่นการรับฟังความคิดเห็นประชาชนก่อนเข้าที่ประชุมสภาฯและวุฒิสภาก่อนทูลเกล้าฯซึ่งครม.เป็นผู้ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจะมีอำนาจน้อยกว่า กก.ยุทธศาสตร์ชาติไม่ได้

 

คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จะมีอำนาจเฉพาะตัว เมื่อจะดำเนินการเรื่องใดก็จะต้องรายงานครม.แต่หากครม.ฝ่าฝืนยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ก็สามารถรายงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)เอาผิด ครม.ได้ ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์นี้ ไม่ว่าใครเป็นนายกฯ ก็จะเป็นประธาน ซึ่งประธานสามารถเปลี่ยนตัวคณะกรรมการยุทธศาสตร์ได้ เมื่อมีรัฐบาลใหม่จึงสามารถปรับเปลี่ยนตัวคณะกรรมการฯได้ แต่ไม่ใช่เปลี่ยนตามใจชอบเพราะต้องมีหลักประกัน

 

วิษณุชี้ครม.ใหม่ยกเลิกซื้อเรือดำน้ำได้

 

จากนั้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์กรณีคณะรัฐมนตรีอนุมัติการจัดซื้อเรือดำน้ำจากสาธารณรัฐประชาชนจีนหาก ครม.ชุดต่อไปไม่เห็นด้วย สามารถเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ว่าทุกเรื่องสามารถเปลี่ยนแปลงได้หมด แต่อะไรที่มีการลงนามไปแล้ว หากมีการเปลี่ยนแปลง อาจต้องรับผิดกับคู่สัญญาซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา ส่วนจะมีการลงนามกับคู่สัญญาเมื่อไหร่นั้น ก็ไม่ทราบ ยังไม่ได้มีการพูดคุยกันในที่ประชุม ครม.

 

เมื่อถามว่าหากมีการลงนามไปแล้วมีการเปลี่ยนแปลงความรับผิดจะเป็นอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า คนที่เปลี่ยน ต้องรับผิดชอบ หากมีความเสียหายเกิดขึ้นซึ่งขึ้นอยู่กับสัญญาว่าจะมีการเขียนไว้อย่างไร ส่วนความรับผิดดังกล่าว ไม่ใช่ว่าจะต้องรับผิดตลอด อาจจะมีการฟ้องร้อง ซึ่งสุดท้ายแล้ว อาจไม่ต้องรับผิด ก็ได้

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์แนวหน้าออนไลน์ วันที่ 3 เมษายน 2559
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก