ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

กกต.เตรียมทำคู่มือเลือกตั้งเพื่อคนพิการ

วันที่ลงข่าว: 24/04/17

"กกต."เตรียมทำประชาพิจารณ์ผู้พิการ หวังยกระดับหน่วยเลือกตั้งไทยเป็นคู่มือต้นแบบสากล 

         20 เม.ย. - นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง ด้านบริหารกลาง เปิดเผยหลังการประชุมร่วมกับมูลนิธิเครือข่ายเพื่อการเลือกตั้ง(อันเฟรล) เพื่อหาแนวทางในการอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการ ผู้สูงอายุ โดยได้มีการแบ่งกลุ่มผู้พิการออกเป็น 7 กลุ่ม แบ่งเป็น ผู้พิการทางการมองเห็น ผู้พิการทางการได้ยิน ผู้พิการทางร่างกาย และผู้พิการทางจิตใจ สติปัญญาการเรียนรู้และออทิสติก ซึ่ง กกต.ให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุที่จะใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งให้เท่าเทียมกับคนปกติ  

 

         โดยแนวทางการอำนวยความสะดวกแก่กลุ่มคนเหล่านั้น กกต.เห็นว่าต้องแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบข้อบังคับ ใช้เทคโนโลยีทุกช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้เข้าถึงผู้พิการและผู้สูงอายุ พร้อมทั้งต้องปรับทัศนคติความเชื่อที่มีต่อผู้พิการ อีกทั้งต้องมีการจัดเตรียมสถานที่จัดการเลือกตั้งในการอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการในการออกไปใช้สิทธิ์ เช่นการออกแบบหน่วยเลือกตั้งที่มีความเป็นสากล มีทางลาดชันสำหรับผู้พิการ  มีเทคโนโลยีที่เป็นการช่วยเหลือผู้พิการ เช่นอักษรเบรลล์ หรือหนังสือเสียง เป็นต้น รวมถึงการเตรียมบุคลากรเพื่ออำนวยความสะดวก เช่นมีกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งหรือเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ อบรมภาษามือที่จำเป็นให้กับเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเพื่อสื่อสารกับผู้ใช้สิทธิ์ รวมถึงปรับทัศนคติในการช่วยเหลือผู้พิการและผู้สูงอายุมากกว่าคนทั่วไป เพื่อไม่เป็นอุปสรรคในการเลือกตั้ง

 

         "กกต.จะจัดทำหนังสือคู่มือการจัดการเลือกตั้งสำหรับผู้พิการ ซึ่งจะมีการทำประชาพิจารณ์โดยจะเชิญตัวแทนผู้พิการทุกรูปแบบ 100 คนมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการจัดการเลือกตั้งเพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ ในวันที่ 3 พ.ค. นี้ ที่โรงแรมเซนทรา ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ ซึ่งคู่มือดังกล่าว กกต.จะจัดทำร่วมกับมูลธิอันเฟรลใช้เป็นต้นแบบในการเลือกตั้งในประเทศไทย และจะเป็นคู่มือเล่มแรกของโลกที่จะนำไปใช้สำหรับการจัดการเลือกตั้งสำหรับผู้พิการ ซึ่งจะจัดทำเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษด้วย"นายสมชัย กล่าว

 

         นายสมชัย กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางในการจัดทำคู่มือจัดการเลือกตั้งอำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการ เช่น การจัดทำเวบไซต์ให้ข้อมูลระบบเสียงและสามารถปรับขนาดตัวอักษรและสีตัวอักษรได้ จัดสถานที่เลือกตั้งพิเศษสำหรับผู้พิการที่ลงชื่อไม่น้อยกว่า 40 คนจากเดิมที่กำหนด 100 คนต่อหน่วยเลือกตั้ง รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้พิการเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครสังเกตการณ์เลือกตั้งหรือร่วมเป็นกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง

 

          อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการดำเนินการดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่องบประมาณในการจัดการเลือกตั้งบ้าง แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญในการเปิดโอกาสให้กลุ่มคนเหล่านี้เข้ามามีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง ถือเป็นเรื่องที่ดี ถึงจะใช้งบประมาณมากกว่าเดิม แต่ถือเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำ คุ้มค่าในการที่จะดำเนินการเพื่อให้คนเหล่านี้เข้าถึงสิทธิเลือกตั้ง  

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์คมชัดลึกออนไลน์ วันที่ 20 เมษายน 2560
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก