ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

มติไฟเขียวนโยบายส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พม.เร่งขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม ภายในปี 60

วันที่ลงข่าว: 10/04/17

        วันที่ 7 เม.ย.60 เวลา 11.30 น. พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 60 ได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ หรือ กพช. ครั้งที่ 2/2560 ณ ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ โดยมี พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม และตน ในฐานะรองประธานกรรมการ เข้าร่วมประชุม พร้อมด้วยกรรมการ ประกอบด้วย นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนองค์กรคนพิการ และนายสมชาย เจริญอำนวยสุข อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ในฐานะกรรมการและเลขานุการ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

        พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า การประชุมดังกล่าว ที่ประชุมได้มีการพิจารณาและมีมติเห็นชอบในประเด็นสำคัญด้านคนพิการ ดังนี้ 1.แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2560–2564 มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560 เห็นชอบหลักการของแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ 5 โดยให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการตามแนวทางมาตรการของแผนฯ พร้อมทั้งขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามแผนดังกล่าว 2.สนับสนุนการจัดบริการผู้ช่วยคนพิการ โดยสนับสนุนงบประมาณค่าตอบแทนผู้ช่วยคนพิการทั่วประเทศ ในวงเงิน 52.99 ล้านบาท ซึ่งที่ประชุม กพช. มีข้อเสนอแนะดังนี้ 1) ปรับปรุงหลักสูตรผู้ช่วยคนพิการ โดยมีหลักสูตรเฉพาะแต่ละประเภทความพิการ และให้มีการฝึกอบรมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข 2) เพิ่มค่าตอบแทนผู้ช่วยคนพิการ ชั่วโมงละ 50 - 100 บาท 3) การเพิ่มจำนวนผู้ช่วยคนพิการ โดยการอบรมขยายผลในภูมิภาคด้วย และ 4) การติดตามประเมินการบริการของผู้ช่วยคนพิการ 3.การจ้างงานคนพิการ กรณีสถานประกอบการนำชื่อคนพิการมารายงาน แต่ไม่ได้จ้างจริง หรือคนพิการยินยอมให้นำชื่อไปรายงาน โดยไม่ได้ปฏิบัติงานจริง มอบหมายให้กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ(พก.) ดำเนินการตรวจสอบ และดำเนินคดีตามกฎหมาย รวมถึงประชาสัมพันธ์ เพื่อป้องปรามไม่ให้มีการกระทำดังกล่าวต่อไป

 

        พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า 4.การรับบริการทางการแพทย์ กรณีคนพิการที่เป็นผู้ประกันตน ได้รับความเดือดร้อนในการจ่ายค่ารักษาพยาบาลล่วงหน้าและเบิกจ่ายภายหลัง มอบหมายให้กระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกันเร่งแก้ไขปัญหา โดยไม่ต้องให้คนพิการต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลล่วงหน้า อีกทั้ง คนพิการสามารถเลือกรับการรักษาได้ ทั้งโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน และ 5.ระบบบริการขนส่งสาธารณะ มอบหมายให้กรุงเทพมหานคร และกระทรวงมหาดไทย เร่งดำเนินการปรับปรุงทางขึ้น - ลงรถไฟฟ้า BTS เพื่อรองรับการใช้งานของคนพิการให้แล้วเสร็จภายใน 2560 และระบบขนส่งมวลชนทุกรูปแบบ จะต้องสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกที่คนพิการและทุกคนเข้าถึง ตามหลัก Universal Design รวมถึง การปรับปรุงระเบียบที่เกี่ยวข้อง และให้คนพิการสามารถเข้าร่วมตรวจสอบการจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกในบริการสาธารณะด้วย

ที่มาของข่าว สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก