ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

กศน. เสนออาชีพใหม่แห่งทศวรรษ จับมือเครือข่ายอบรม Care Giver ดูแลผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิงในยุคสังคมสูงวัยสมบูรณ์แบบ

วันที่ลงข่าว: 04/04/17

        นายกฤตชัย อรุณรัตน์ เลขาธิการ กศน. เปิดเผยว่า สถานการณ์จำนวนผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงระดับปานกลางขึ้นไปเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นปัญหาสำคัญในระดับประเทศ ในขณะที่ศักยภาพของครอบครัวในการดูแลผู้สูงอายุถดถอยลง ด้วยครอบครัวที่มีขนาดเล็กลง การเคลื่อนย้ายแรงงานจากชนบทสู่เมือง รวมถึงการทำงานนอกบ้านของสตรี อีกทั้งระบบบริการสาธารณสุขและบริการด้านสังคมที่ผ่านมาอยู่ในลักษณะตั้งรับ ให้บริการแก่กลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่มีภาวะพึ่งพิงเป็นหลัก กลุ่มผู้สูงอายุผู้มีภาวะพึ่งพิงจึงมีข้อจำกัดในการเข้าถึงการบริการ และมักเป็นไปในรูปการสงเคราะห์ชั่วคราวไม่ต่อเนื่องเท่าที่ควร ซึ่งเป็นที่มาของความร่วมมือของหลายกระทรวง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงหน่วยงานภาคประชาสังคม ในการดูแลผู้สูงอายุร่วมกัน เนื่องจากสังคมไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในระยะเวลาอันใกล้ โดย สำนักงาน กศน.ได้ดำเนินการโครงการเกี่ยวกับผู้สูงอายุใน 2 โครงการหลัก ภายใต้แผนงานบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาศักยภาพคนตามช่วงวัย (กลุ่มวัยผู้สูงอายุ) ของสำนักงาน กศน. ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559-2561

        ผลการดำเนินงานในปีงบประมาณที่ผ่านมาใน 2 โครงการ 1. โครงการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ จัดขึ้นเพื่อให้ผู้สูงอายุภาวะ “ติดสังคม” ได้รับการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมกับวัยและความต้องการ มีความรู้ความเข้าใจในการดูแลสุขภาพและอนามัยของตนเองเพื่อคงภาวะติดสังคมไว้ให้ได้นานที่สุด หรือจนวาระสุดท้ายของชีวิต จะได้ไม่เป็น “ผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิง” รวมทั้งให้เยาวชนและคนวัยทำงานได้ตระหนักและเห็นคุณค่าของผู้สูงอายุ เกิดการเกื้อกูลระหว่างวัยภายในครอบครัวและชุมชน ในปีที่ผ่านมามีเป้าหมายเสริมสร้างคุณภาพชีวิตแก่กลุ่มผู้สูงอายุติดสังคมใน 928 อำเภอ ทั่วประเทศ 92,800 คน จัดได้จริง 113,000 คน คิดเป็นร้อยละ 122 ดำเนินการในลักษณะกลุ่มสนใจหรือทักษะชีวิตในหลักสูตรที่หลากหลายเพื่อคงภาวะติดสังคมให้กับกลุ่มเป้าหมาย และ 2. โครงการจัดหลักสูตรการอบรมดูแลผู้สูงอายุ กระทรวงศึกษาธิการ (Care Giver) เพื่อผลิตผู้ดูแลผู้สูงอายุในระดับชุมชนที่มีศักยภาพในการดูแลผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิงภายในครอบครัว หรือไปประกอบอาชีพอิสระในการดูแลผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิง ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หลักสูตร 70 ชั่วโมง และ 420 ชั่วโมง กลุ่มเป้าหมาย คือ อสม. และประชากรวัยแรงงาน อายุ 18-59 ปี เพื่อเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการดูแลผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้านและติดเตียงในสังคมไทยที่เพิ่มขึ้นทุกวัน โดยในปีที่ผ่านมาตั้งเป้าหมายจัดอบรมหลักสูตรละ 89 รุ่น 1,780 คน ผลการดำเนินงาน คือ หลักสูตร 70 ชั่วโมง จัดได้ 365 รุ่น จำนวน 7,380 คน และ หลักสูตร 420 ชั่วโมง จัดได้ 14 รุ่น จำนวน 280 คน โดยได้ใช้จ่ายเงินงบประมาณในการดำเนินการดังกล่าว ร้อยละ 86.47จากวงเงินงบประมาณรวม 22 ล้านบาทเศษ

        เลขาธิการ กศน.กล่าวต่อไปว่า สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2560 ตั้งเป้าหมายดำเนินการโครงการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตสำหรับผู้สูงอายุ จำนวน 92,800 คน และเป้าหมายในการผลิตผู้ดูแลผู้สูงอายุ ในโครงการจัดหลักสูตรการอบรมดูแลผู้สูงอายุ จำนวน 1,520 คน ซึ่งเมื่อจำแนกตามความพร้อมของพื้นที่ได้ข้อสรุปว่าพื้นที่มีความพร้อมในการจัดหลักสูตร 420 ชั่วโมง จำนวน 40 รุ่น และหลักสูตร 70 ชั่วโมง จำนวน 356 รุ่น จากทั่วประเทศ ที่น่าสนใจมากคือ อาชีพผู้ดูแลผู้สูงอายุจะเป็นอาชีพยอดนิยมในอนาคตอันใกล้ทั้งในและต่างประเทศ อัตราเงินเดือนของอาชีพนี้จะสูงกว่าอาชีพอื่นๆ ที่มีวุฒิการศึกษาในระดับเดียวกัน นอกจากนี้ ผู้ผ่านการอบรมหลักสูตร 420 ชั่วโมง จะได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข สามารถนำไปยกระดับอาชีพของตนเองได้

        สำหรับเนื้อหาภายในหลักสูตรประกอบด้วยความรู้ภาคทฤษฎีและการฝึกภาคปฏิบัติ อาทิ พื้นฐานความรู้เกี่ยวกับ/แนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง โรคที่พบบ่อย ภาวะวิกฤติกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น การช่วยเหลือ/ดูแล การใช้ยา การส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ด้านอาหาร การออกกำลังกาย สุขภาพจิตกับผู้สูงอายุ การสื่อสารทางบวกกับผู้สูงอายุ การจัดกิจกรรมนันทนาการ การเสริมทักษะด้านต่างๆ เช่น ภาษาอังกฤษ และคอมพิวเตอร์ รวมไปถึงการสร้างและเสริมคุณค่าในตัวผู้สูงอายุ และการดึงศักยภาพในฐานะของภูมิปัญญาที่จะเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ของคนในชุมชน ในการสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีที่ดีของชุมชนไปยังลูกหลานต่อไป โดยตั้งโจทย์ในการดำเนินงานในเรื่องนี้ไว้ 2 เรื่อง คือ ทำอย่างไรไม่ให้ผู้สูงอายุที่ยังแข็งแรงเจ็บป่วยจนต้องอยู่ในภาวะพึ่งพิง และทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ไม่เป็นภาระแก่ครอบครัวมากเกินไป ทั้งนี้ สำหรับประชาชนที่สนใจเข้ารับการอบรม สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากหน่วยงานในสังกัดสำนักงาน กศน.ทั่วประเทศ หรือ ติดต่อที่กลุ่มงานส่งเสริมและสนับสนุนการจัด กศน.สำหรับผู้สูงอายุ โทร. 02 628 5331 และสายด่วน กศน. โทร. 1660

ที่มาของข่าว สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก