ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ จ.ยะลา ประชุมร่วมขับเคลื่อนงานด้านแรงงานในพื้นที่

วันที่ลงข่าว: 31/03/17

        รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ยะลา ประชุมร่วมขับเคลื่อนงานด้านแรงงานในพื้นที่ ก่อนมอบนโยบายและแนวทางการปฎิบัติราชการแก่ หน่วยงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

เมื่อเวลา 09.15 น. วันนี้ (30 มี.ค. 60) ที่ห้องประชุมยะลารวมใจ อาคารศูนย์ปฎิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมคณะ ได้เดินทางมาร่วมประชุมกับ นายดลเดช พัฒนรัฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ รองผู้บัญชาการ ศชต. และหัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงานในเขตตรวจราชการที่ 9 ที่เกียวข้อง

พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สำหรับการเดินทางมาประชุมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรับทราบการดำเนินงานด้านแรงงาน เพื่อสนับสนุนโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” และติดตามการปฏิบัติงานด้านแรงงาน ตามนโยบายรัฐบาลและของกระทรวงแรงงาน รวมถึงปัญหา อุปสรรค ของการปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดยะลา เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนา ปรับปรุง แก้ไขปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติงานด้านแรงงาน ให้สอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่ต่อไป

        ซึ่งในด้านแรงงานแล้ว จังหวัดยะลา ถือเป็นจังหวัดสำคัญที่จะต้องพัฒนาไปสู่เมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ตามนโยบายของรัฐบาล เพราะฉะนั้นการพัฒนาศักยภาพแรงงานเพื่อรองรับเมืองต้นแบบ จึงเป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ ซึ่งต้องขอขอบคุณท่านผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ที่ได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านแรงงานในพื้นที่ รวมถึงผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่านที่ได้ให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่องานด้านแรงงาน ซึ่งกระทรวงแรงงานจะได้นำไปพิจารณาในการกำหนดเป็นนโยบาย รวมถึงแปลงไปสู่การปฏิบัติและขับเคลื่อนการดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป

        สำหรับการประชุมในครั้งนี้ กระทรวงแรงงานมีมาตรการและแนวทางดำเนินการวาระปฏิรูปแรงงาน 8 วาระ เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาประเทศในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยการเดินหน้าพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ประกอบด้วย มิติภายใน 3 วาระ และมิติภายนอก 5 วาระ คือ วาระที่ 2 การปฏิรูปบทบาทกระทรวงแรงงาน เพื่อเป็นองค์กรชี้นำการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ โดยการพัฒนาใน 3 มิติ คือ มิติโครงสร้างอำนาจหน้าที่ที่ต้องทันสมัย ปฏิบัติภารกิจใหม่ๆ และท้าทาย มิติบุคลากรของกระทรวงแรงงานที่ต้องก้าวทันการเปลี่ยนแปลง และมิติกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ที่ต้องเป็นกลไกสนับสนุนการทำงานแนวใหม่มีความยืดหยุ่นสูง คล่องตัว จึงถือเป็นต้นนำของวาระปฏิรูปแรงงาน วาระที่ 2Zero Corruption เป็นการกำหนดวาระเพื่อตอบสนองเป้าหมายชาติ ตามยุทธศาสตร์ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 พ.ศ.2560-2564 โดยมีวิสัยทัศน์ว่า “ประเทศไทยใสสะอาดไทยทั้งชาติต้านทุจริต” ซึ่งการจะบรรลุได้ทุกส่วนราชการต้องช่วยกันดำเนินการอย่างจริงจังวาระที่ 3Information Technology เป็นการปรับปรุงเทคโนโลยีสารสนเทศให้มีความทันสมัย เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้มาใช้บริการ สร้างความโปร่งใส และลดการทุจริต

         ส่วนวาระที่ 4Safety Thailand เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัย บูรณาการผ่านกลไกประชารัฐ และดำเนินงานเชิงรุกด้วยมาตรการสร้างจิตสำนึก ความปลอดภัยของชีวิต และการสร้างเครือข่าย วาระที่ 5 การป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงานและแรงงานผิดกฎหมาย เพื่อสร้างระบบป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์แบบครบวงจร และให้ปัญหาการค้ามนุษย์หมดไปจากประเทศไทย วาระที่ 6 การเพิ่มผลิตภาพแรงงานสู่ Thailand 4.0 โดยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในแต่ละภาคการผลิตให้มีผลิตภาพสูง มุ่งสู่ Thailand 4.0 วาระที่ 7 มิติใหม่ของการส่งเสริมการมีงานทำ เป็นการเชื่อมโยงกับวาระการเพิ่มผลิตภาพแรงงานสู่ Thailand 4.0 โดยนอกจากจะส่งเสริมการมีงานทำให้แก่กลุ่มแรงงานทั่วไปแล้ว ยังมุ่งให้แรงงานผู้สูงอายุและผู้พิการมีงานทำ อีกทั้ง ยังเตรียมทรัพยากรมนุษย์ก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงานเพื่อขจัดปัญหาอุปสรรคด้านการขาดแคลนแรงงานเชิงคุณภาพ และวาระที่ 8 ยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ กลุ่มแรงงานนอกระบบเป็นกลุ่มคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศ ส่วนใหญ่มีการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษา มีทักษะฝีมือในระดับล่าง กระทรวงแรงงานจึงมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบอย่างครบวงจร โดยการส่งเสริม คุ้มครอง และพัฒนา สร้างความเข้มแข็ง และสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย

ที่มาของข่าว สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก