ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

เผยมุมมองนักธุรกิจใหม่ โครงการ พอแล้วดี The Creator รุ่นที่ 2

วันที่ลงข่าว: 23/03/17
ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ผู้อำนวยการ พอแล้วดี
ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ผู้อำนวยการ พอแล้วดี
 
“พอแล้วดี” โครงการสร้างคนรุ่นใหม่ให้เป็นต้นแบบของสังคม บนพื้นฐานหลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” + “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” เปิดมุมมองใหม่ของ“ความพอเพียง”ศาสตร์พระราชาที่สามารถนำมาปรับใช้กับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ผ่านธุรกิจหลากหลาย ที่จะเปลี่ยนโลกทัศน์ของการทำธุรกิจนำโดย ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ผู้อำนวยการ พอแล้วดี และ อุกฤษฏ์วงษ์ทองสาลี ผู้จัดการโครงการ พอแล้วดี พร้อมเปิดตัวนักธุรกิจรุ่นใหม่ทั้ง 20 คนที่ได้รับการคัดเลือกจากผู้สมัครหลากหลายธุรกิจ เพื่อร่วมสัมมนาเข้มข้นกับโครงการ “พอแล้วดี” The Creatorรุ่นที่ 2 เตรียมพร้อมสู่การเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการรายอื่นที่เห็นคุณค่าของการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
 
ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ผู้อำนวยการ พอแล้วดี เผยถึงวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการ “พอแล้วดี” รวมถึงมุมมอง “ความพอเพียง” ว่า โครงการ “พอแล้วดี” เริ่มต้นครั้งแรกในปี 2559 เป็นโครงการเผยแพร่องค์ความรู้และแนะแนวธุรกิจบนพื้นฐานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อให้ผู้ประกอบการและประชาชนที่สนใจได้เข้าใจในหลักการและนำไปปรับใช้ในหลากหลายธุรกิจ โดยมีมุมมองของความพอเพียงว่าการสร้างธุรกิจอย่างยั่งยืนตามหลักความพอเพียงมีแนวทางเป็น 3 หลักการ นั่นคือ รู้จักตัวเอง โดยประเมินและวิเคราะห์ตัวเองให้ได้ มีเหตุมีผล คำนึงถึงเหตุและผลของการกระทำนั้นๆ และมีภูมิคุ้มกัน คือต้องคำนึงถึงอนาคต กับอีก 2 เงื่อนไข คือ ความรู้และ คุณธรรม”
 
ด้าน อุกฤษฏ์ วงษ์ทองสาลี ผู้จัดการโครงการ พอแล้วดีเผยว่า สำหรับกิจกรรมของโครงการในปีนี้มี 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่พอแล้วดี The Creator กิจกรรมสัมมนาเข้มข้น (intensiveworkshop) ระหว่างเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน ครั้งละ 3 วัน จำนวน3 ครั้ง และการลงพื้นที่ให้กับผู้ประกอบการ 20 รายที่ได้รับการคัดเลือก รวมไปถึงกิจกรรม“พอแล้วดี Open House กิจกรรมสัมมนาเต็มวัน 2 ครั้ง ครั้งแรกในวันที่ 23 มีนาคม ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต สำหรับนิสิตนักศึกษาและผู้สนใจที่สมัครเข้าร่วมงานประมาณ 100 คน และครั้งที่ 2 ในช่วงกลางปี เพื่อสร้างความเข้าใจในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อันจะเป็นแนวทางในการตัดสินใจในการประกอบอาชีพเมื่อสำเร็จการศึกษา หรือนำไปปรับใช้ในธุรกิจที่กำลังทำอยู่
 
อุกฤษฏ์ วงษ์ทองสาลี ผู้จัดการโครงการ พอแล้วดี
อุกฤษฏ์ วงษ์ทองสาลี ผู้จัดการโครงการ พอแล้วดี
 
และกิจกรรมสุดท้าย พอแล้วดี Boot Camp กิจกรรมทัศนศึกษาสำหรับนักศึกษาที่ปิดภาคเรียน และเยาวชนไทยที่ศึกษาและเติบโตในต่างประเทศขณะกลับมาประเทศไทยช่วงปิดภาคเรียนได้มีโอกาสศึกษาโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และเรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นมรดกที่หาค่ามิได้ของชาวไทย โดยหวังให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถนำไปเผยแพร่ต่อให้เพื่อนชาวไทยและชาวต่างชาติได้รับรู้และเข้าใจคุณค่าของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
 
ดวงตา กระสินธุ์ เจ้าของแบรนด์ THAI BaZket และไร่ยาทิพย์ (นาผืนสุดท้ายบนเกาะ) ศูนย์อนุรักษ์พืชพันธุ์พื้นเมืองสุราษฎร์ธานี หนึ่งในตัวแทน พอแล้วดี The Creator รุ่นที่ 2อดีตทันตแพทย์ ที่ประสบปัญหาสุขภาพจึงมีความคิดอยากจะปลูกผักกินเอง พร้อมได้แรงบันดาลใจจากพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ใจความว่า “การนำพันธุ์ใหม่หรือพันธุ์ต่างประเทศต้องระวังเรื่องโรค ถ้าเกิดโรคจะเสียหายมากและขาดทุน การนำพันธุ์ต่างประเทศมาราคาสูงไม่ควรพึ่งพา”
นักธุรกิจรุ่นใหม่ พอแล้วดี The Creator รุ่นที่ 2 นำโดย ดวงตา กระสินธุ์ จาก THAI BaZket และไร่ย่าทิพย์ (นาผืนสุดท้ายบนเกาะ) ศูนย์อนุรักษ์พืชพันธุ์พื้นเมือง สุราษฏร์ธานี, วรนุช ภาคานาม จากแบรนด์ คุณยายปลั่งและ มนูญ ทนะวัง จาก โกโก้ วัลเล่ย์ รีสอร์ท
นักธุรกิจรุ่นใหม่ พอแล้วดี The Creator รุ่นที่ 2 นำโดย ดวงตา กระสินธุ์ จาก THAI BaZket และไร่ย่าทิพย์ (นาผืนสุดท้ายบนเกาะ) ศูนย์อนุรักษ์พืชพันธุ์พื้นเมือง สุราษฏร์ธานี, วรนุช ภาคานาม จากแบรนด์ คุณยายปลั่งและ มนูญ ทนะวัง จาก โกโก้ วัลเล่ย์ รีสอร์ท
 
“สิ่งที่ทำ คือต้องการสร้างความมั่นคงของอาหาร ด้วยการปลูกผักกินเอง และต้องการเป็นต้นแบบให้เกษตรกรมีทางเลือกมากกว่าการขายผักสด โดยที่เกษตรกรสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์เองได้ เช่น เขาปลูกฟักทอง ก็สามารถขายเมล็ดพันธุ์ฟักทองได้ และสามารถแปรรูปเป็นฟักทองผงได้ เพื่อส่งต่อไปยังผู้บริโภคได้ เพราะสิ่งที่เราทำเป็นเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่ต้น เรามีดีเอ็นเอของเราคือ เลิฟแอนด์แชร์ เรารักตั้งแต่เกษตรกร สิ่งแวดล้อม ไปจนถึงผู้บริโภคส่วน แชร์ เราสามารถให้องค์ความรู้ในเรื่องการเก็บและเลือกเมล็ดพันธุ์เราสามารถให้เมล็ดพันธุ์แก่คนด้อยโอกาส เพื่อให้เขาสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์เอง และใช้เองเป็น จากนั้นก็ส่งให้เพื่อนได้ เพื่อนกลุ่มที่สองก็เก็บเองเป็น ก็สามารถส่งให้คนกลุ่มที่สามได้ มันจะเป็นโมเดลที่เรียกว่าอินฟินิตี้เลิฟ ไม่มีจุดสิ้นสุดในเรื่องของการแบ่งปัน”
 
อีกหนึ่งเจ้าของธุรกิจที่อายุน้อยที่สุดของโครงการ พอแล้วดี The Creator รุ่นที่ 2 จิระ ชนะบริบูรณ์ชัย เจ้าของ แบรนด์ ONCE เสื้อผ้าสำหรับผู้พิการทางสายตา เผยว่า สำหรับธุรกิจของตนได้รับแรงบันดาลใจมาจากคุณลุง คุณป้าแท้ๆ ที่เป็นผู้พิการทางสายตา ตนอยากให้ผู้พิการทางสายตาได้มีโอกาสที่จะได้เลือกใส่เสื้อผ้าตามสีที่ตัวเองอยากได้ ถึงแม้ว่าเขาจะไม่เห็น แต่อย่างน้อยเขาได้เลือกในสิ่งที่เขาชอบ โดยเสื้อทุกตัวจะนำเทคนิคพิเศษมาใช้ จะเป็นอักษรเบรลล์นูนขึ้นมา บ่งบอกถึงสีและไซส์อย่างชัดเจน และเพื่อเป็นการมอบความสุข และทำอะไรดีๆ เพื่อสังคม เมื่อทุกการซื้อเสื้อ 1 ตัวเราก็จะมอบเสื้ออีก 1 ตัว ให้กับผู้พิการทางสายตา เพราะเราเชื่อว่าหนึ่งการให้สร้างหนึ่งรอยยิ้มเสมอ”
 
สามารถติดตามเรื่องราวของ “พอแล้วดี” The Creator รุ่นที่ 2 และกิจกรรมต่างๆ ในโครงการ แรงบันดาลใจดีๆ ที่จะมาจุดประกายให้สังคมรู้จักกับความ “พอ” ได้ทางเว็บไซต์ www.PorLaewDeeTheCreator.com และเฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/PorLaewDeeTheCreator.com
 
ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์แนวหน้าออนไลน์ วันที่ 23 มีนาคม 2560
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก