ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สรุปมติ ครม.ประจำวันอังคารที่ 21 มีนาคม 2560

วันที่ลงข่าว: 22/03/17

วันที่ 21 มีนาคม 2560  เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้

 

กฎหมาย

 

1. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะได้นำร่างกฎกระทรวงดังกล่าวเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาลงนาม และประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

 

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง

 

แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2556 ดังนี้

 

1. ยกฐานะฝ่ายพัฒนากฎหมายเป็นกองพัฒนากฎหมาย และปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการดังกล่าว

 

2. เปลี่ยนชื่อสำนักกฎหมายต่างประเทศเป็นกองกฎหมายต่างประเทศ สำนักกฎหมายปกครองเป็นกองกฎหมายปกครอง และสำนักหลักนิติบัญญัติเป็นกองหลักนิติบัญญัติ

 

2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดจำนวนคนพิการที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐจะต้องรับเข้าทำงาน และจำนวนเงินที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจะต้องนำส่งเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

 

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดจำนวนคนพิการที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐจะต้องรับเข้าทำงาน และจำนวนเงินที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจะต้องนำส่งเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการคลัง ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้

 

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฯ เป็นการแก้ไขระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ จากภายในวันที่ 31 มกราคม เป็น ภายในวันที่ 31 มีนาคม ของแต่ละปี กำหนดเพิ่มเติมเรื่องการส่งเงินเข้ากองทุนฯ กรณีนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการปฏิบัติไม่ครบตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยให้ส่งเงินเข้ากองทุนฯ ตามจำนวนวันที่ไม่ได้ปฏิบัติให้ครบตามเงื่อนไขที่กำหนด เว้นแต่ได้มีการดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ไม่ได้ปฏิบัติให้ครบตามเงื่อนไข และเพิ่มเติมข้อกำหนดเรื่องการขอคืนเงินจากกองทุนดังกล่าวกรณีการจ้างคนพิการภายหลังจากได้จ่ายเงินเข้ากองทุนฯ ไปแล้ว

 

3. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ลดหย่อนการออกเงินสมทบของนายจ้างและผู้ประกันตนในท้องที่ที่ประสบภัยพิบัติอย่างร้ายแรง พ.ศ. ....

 

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ลดหย่อนการออกเงินสมทบของนายจ้างและผู้ประกันตนในท้องที่ที่ประสบภัยพิบัติอย่างร้ายแรง  พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงาน  (รง.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติ  ที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

 

สาระสำคัญของร่างประกาศกระทรวงแรงงาน

 

1. กำหนดให้นายจ้างและผู้ประกันตนในท้องที่ที่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ ตรัง พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ระนอง และประจวบคีรีขันธ์ที่ประสบภัยพิบัติอย่างร้ายแรง กรณีวาตภัย และอุทกภัยได้รับการลดหย่อนการออกเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมประจำงวดเดือนมกราคม 2560 ถึง งวดเดือนมีนาคม 2560 โดยส่งเงินสมทบในอัตราฝ่ายละร้อยละสามของค่าจ้างของผู้ประกันตน

 

2. ให้กำหนดให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 สิ้นสภาพการจ้างงานซึ่งมีทะเบียนผู้ประกันตนในท้องที่ที่ประสบภัยพิบัติอย่างร้ายแรงในท้องที่ดังกล่าวได้รับการลดหย่อนการออกเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมประจำงวดเดือนมกราคม 2560 ถึงงวดเดือนมีนาคม 2560 โดยส่งเงินสมทบในอัตราเดือนละสองร้อยแปดสิบแปดบาท

 

3. กำหนดให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป

 

4. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้อาวุธและยุทโธปกรณ์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามส่งออกไปสาธารณรัฐไลบีเรีย พ.ศ. 2554 พ.ศ. ....

 

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้อาวุธและยุทโธปกรณ์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามส่งออกไปสาธารณรัฐไลบีเรีย พ.ศ. 2554 พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

 

พณ. เสนอว่า โดยที่ประเทศไทยในฐานะรัฐสมาชิกสหประชาชาติมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติตามข้อ 25 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ โดยข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่ 2288 (ค.ศ. 2016) มีสาระสำคัญโดยให้ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรที่เกี่ยวข้องกับอาวุธ ต่อสาธารณรัฐไลบีเรีย ซึ่งปัจจุบันไม่มีมาตรการคว่ำบาตรใดๆ ต่อสาธารณรัฐไลบีเรียอีก และคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560 เห็นชอบรับรองการดำเนินการตามข้อมติดังกล่าวแล้ว

 

สาระสำคัญของร่างประกาศ  เป็นการกำหนดให้ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้อาวุธและยุทโธปกรณ์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามส่งออกไปสาธารณรัฐไลบีเรีย พ.ศ. 2554

 

5. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ....

 

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ และส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

 

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ....ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการยกเว้นทรัพย์สินจากการจัดเก็บภาษี ฐานภาษี อัตราภาษี การคำนวณภาษี การลดหรือยกเว้นภาษี โดยยกเลิกพระราชบัญญัติโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 พระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 และพระราชบัญญัติกำหนดราคาปานกลางของที่ดินสำหรับการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ.2529 และกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเก็บภาษีจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่  เพื่อแก้ไขปัญหาโครงสร้างของภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน และช่วยกระตุ้นให้มีการใช้ประโยชน์ในที่ดินให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

เศรษฐกิจ- สังคม 6. เรื่อง การเสนอตัวขอเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันรถจักรยานยนต์ชิงแชมป์โลก รายการ โมโต จีพี ประจำปี 2561 – 2563 (3 ปี)

 

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการให้ประเทศไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพโครงการจัดการแข่งขันรถจักรยานยนต์ชิงแชมป์โลก รายการ โมโต จีพี ประจำปี พ.ศ. 2561 – 2563 (3 ปี) ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอ

 

สาระสำคัญของเรื่อง

 

กก. รายงานว่า

 

1. ปัจจุบันการแข่งขันรถจักรยานยนต์ชิงแชมป์โลก รายการ โมโต จีพี (World Series) ได้รับความนิยมอย่างมาก มีการแข่งขันเพื่อชิงแชมป์โลก 18 สนามต่อปี โดยในปี พ.ศ. 2560 ดอร์น่า สปอร์ต กรุ๊ป เจ้าของลิขสิทธิ์การจัดการแข่งขันฯ ได้ประกาศรายชื่อสนามที่จะดำเนินการจัดการแข่งขันฯ และในปี พ.ศ. 2561 มีแผนเพิ่มเติมจำนวนสนามที่จะจัดการแข่งขันไม่เกิน 21 สนามต่อปี ซึ่งในขณะนี้ประเทศฟินแลนด์ได้ลงนามในสัญญาเพื่อจัดการแข่งขันเป็นที่เรียบร้อยแล้วจึงเหลือเพียง 2 สนาม ที่กำลังดำเนินการสรรหาประเทศเจ้าภาพที่มีความเหมาะสมและความพร้อมในองค์ประกอบอื่น ๆ และได้มีประเทศต่าง ๆ ที่เสนอตัวเพื่อขอรับการเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันฯ จำนวน 4 ประเทศ ประกอบด้วย คาซัคสถาน อินโดนีเซีย ฮังการี และประเทศไทย (อย่างไม่เป็นทางการ) ซึ่งการเสนอตัวจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2560

 

2. การจัดการแข่งขันฯ จะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยสู่สายตาประชาคมโลกจากการถ่ายทอดสดมากกว่า 200 ประเทศ ผ่านสายตาผู้ชมกว่า 600 ล้านคน จะเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพความพร้อมของประเทศไทยในหลาย ๆ ด้าน เช่น ด้านกีฬา ด้านการท่องเที่ยว ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยให้กับนักท่องเที่ยว และนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศอีกทางหนึ่ง เกิดการกระจายรายได้ลงสู่พื้นที่โดยเฉพาะในจังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดใกล้เคียง เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่อง จากการที่ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ อันดับที่ 1 ของอาเซียน

 

ทั้งนี้ การได้รับสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันฯ จะเพิ่มโอกาส เพิ่มรายได้ให้กับอุตสาหกรรมเหล่านี้อย่างมหาศาล และจะตอกย้ำความเป็นผู้นำของประเทศไทย รวมถึงจะส่งผลให้เกิดการตื่นตัวของวงการกีฬามอเตอร์สปอร์ตมากขึ้น เนื่องจากการแข่งขันครั้งนี้จะมีการนำเทคโนโลยี องค์ความรู้เกี่ยวกับวงการอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์เข้ามา และยังเป็นการยกระดับการจัดการแข่งขันในประเทศให้ได้มาตรฐานระดับสากล สร้างความนิยมในกีฬามอเตอร์สปอร์ตให้มีความตื่นตัวแบบก้าวกระโดด สร้างความเชื่อมั่น ความภาคภูมิใจให้กับคนไทยในการเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันกีฬามอเตอร์สปอร์ต (รถจักรยานยนต์) ระดับโลก

 

7. เรื่อง มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ผ่านโครงการสินเชื่อ SMEs Transformation Loan

 

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการสินเชื่อ SMEs Transformation Loan และกรอบวงเงินงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินโครงการ จำนวน 2,250 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ  โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 และปีต่อๆ ไป ตามประมาณการค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในแต่ละปี โดยให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมทำความตกลงกับสำนักงบประมาณต่อไป และให้ กค. ดำเนินการ ดังนี้

 

1. พิจารณาความเป็นไปได้ในการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจอื่นๆ ที่มีศักยภาพในการปล่อยสินเชื่อ เช่น ธนาคารออมสิน หรือธนาคารกรุงไทย เป็นต้น เข้าร่วมดำเนินโครงการดังกล่าวด้วย

 

2. ให้ กค. โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยและบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มเป้าหมายทราบถึงรายละเอียดของโครงการดังกล่าวอย่างถูกต้องทั่วถึง เพื่อเป็นการส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายเข้ามาร่วมโครงการดังกล่าว รวมทั้ง ดำเนินการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs เพื่อให้การดำเนินธุรกิจประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ เช่น จัดฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ และให้คำแนะนำในการวางแผนธุรกิจแก่ผู้ประกอบการ SMEs เป็นต้น

 

3. ให้ กค. นำเสนอโครงการสินเชื่อ SMEs Transformation Loan ต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศเพื่อบรรจุไว้เป็นโครงการสำคัญของรัฐบาลที่ต้องติดตามเร่งรัด รวมทั้งประเมินผลสัมฤทธิ์ได้จากการดำเนินโครงการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในภาพรวมเสนอต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศต่อไปด้วย

 

8. เรื่อง การลงทุนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว

 

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการลงทุนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ ทั้งนี้  ให้ อก. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย  กระทรวงแรงงาน และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน พิจารณาเร่งรัดการดำเนินโครงการ/มาตรการที่เกี่ยวข้องกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว และการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้วโดยเร็วต่อไป  และให้ อก. (การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ  คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน  พิจารณาแนวทางการบริหารจัดการและกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนและระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกให้มีความเชื่อมโยงและส่งเสริมกันด้วย

 

สำหรับโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว ตั้งอยู่ริมถนนทางหลวงหมายเลข 3085 (ถนนบ้านโคก – บ้านป่าไร่)  ในท้องที่ตำบลป่าไร่ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว  โดยโครงการฯ มีระยะทางห่างจากด่านอรัญประเทศ 9 กิโลเมตร จังหวัดสระแก้ว 54 กิโลเมตร  กรุงเทพมหานคร  255 กิโลเมตร  ท่าเรือแหลมฉบัง 225 กิโลเมตร และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 247 กิโลเมตร ซึ่งการลงทุนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในครั้งนี้จะก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของพื้นที่และการรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ดังนี้

 

1.ด้านเศรษฐกิจ เช่น การก่อให้เกิดการลงทุนใหม่ในพื้นที่ การจ้างงานของแรงงานในพื้นที่เพิ่มขึ้น การสร้างความต้องการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นเพิ่มขึ้น และก่อให้เกิดกิจกรรมที่ต่อเนื่องจากการลงทุน  เช่น ธุรกิจก่อสร้าง ร้านค้า ศูนย์การค้า หอพัก / บ้านเช่า เป็นต้น

 

2.การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการที่มีเพิ่มขึ้นและมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและการเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน  เช่น  ระบบคมนาคม ไฟฟ้า ประปา  โรงเรียน และโรงพยาบาล เป็นต้น และสามารถเพิ่มทางเลือกในการประกอบอาชีพของประชาชนในพื้นที่

 

3.มีการจัดระเบียบการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อรองรับการประกอบอุตสาหกรรม และกิจกรรมเกี่ยวเนื่อง เพื่อไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความเดือดร้อน  / รบกวนแก่ชุมชนโดยรอบพื้นที่

 

9. เรื่อง ขออนุมัติดำเนินโครงการและงบประมาณเพื่อป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว (หนอนหัวดำ) ด้วยวิธีผสมผสาน แบบครอบคลุมพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน

 

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้

 

1.อนุมัติให้ กษ. ดำเนินโครงการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว (หนอนหัวดำ) ด้วยวิธีผสมผสานแบบครอบคลุมพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน ในพื้นที่ 78,954 ไร่ วงเงิน 287.73 ล้านบาท

 

2.อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น  วงเงิน 287.73 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการตามข้อ 1.

 

สาระสำคัญของโครงการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว (หนอนหัวดำ) ด้วยวิธีผสมผสานแบบครอบคลุมพื้นที่โดยการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน มีวัตถุประสงค์ เพื่อป้องกันและกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าวได้อย่างยั่งยืน สามารถป้องกันและตัดวงจรการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวไม่ให้แพร่ระบาดไปยังพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ คือ ปาล์มน้ำมัน และลดความรุนแรงการระบาดของหนอนหัวดำไปยังพื้นที่แห่งใหม่

 

พื้นที่ดำเนินการ รวม 78,954 ไร่ ใน 29 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี อ่างทอง ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร  สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์  สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา อุดรธานี สงขลา สตูล นราธิวาส บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ นครศรีธรรมราช กระบี่ พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี ระนอง ชุมพร และปัตตานี

 

ระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่เดือนเมษายน – ธันวาคม 2560 (การจัดหาสารเคมีและฉีดเข้าลำต้น / พ่นทางใบ ดำเนินการในช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน 2560 ส่วนการสนับสนุนปัจจัยการผลิตและปล่อยแตนเบียน ดำเนินการตลอดระยะเวลาดำเนินการ)

 

มาตรการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ได้แก่ 1) การสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วม 2) การจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน  3) มาตรการทางกฎหมาย 4) การเฝ้าระวังและการสำรวจ และ 5) สร้างสวนใหม่ทดแทนและส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย เพื่อให้เกิดระบบนิเวศที่สมดุลในระยะต่อไป

 

ต่างประเทศ 10. เรื่อง ขออนุมัติกรอบเจรจาเพื่อเข้าร่วมการพิจารณาร่างอนุสัญญา BIMSTEC ว่าด้วยความร่วมมือด้านการป้องกันและต่อต้านการค้ามนุษย์ (BIMSTEC Convention on the Cooperation for Prevention and Combating of Human Trafficking)

 

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติกรอบเจรจาเพื่อเข้าร่วมการพิจารณาร่างอนุสัญญา BIMSTEC ว่าด้วยความร่วมมือด้านการป้องกันและต่อต้านการค้ามนุษย์ (BIMSTEC Convention on the Cooperation for Prevention and Combating of Human Trafficking) ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ

 

สาระสำคัญของกรอบเจรจา เป็นการเจรจาจัดทำร่างอนุสัญญา BIMSTEC ว่าด้วยการป้องกันและต่อต้านการค้ามนุษย์ควรอยู่บนพื้นฐานของหลักการและบทบัญญัติตามกฎหมายภายในของประเทศไทย อาทิ พระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นกฎหมายรองรับการปฏิบัติตามพันธกรณีในอนุสัญญาฯ รวมทั้งควรอยู่บนพื้นฐานของพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยได้จัดไว้ อาทิ อนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์โดยเฉพาะสตรีและเด็ก

 

11. เรื่อง ขออนุมัติการจัดทำและลงนามร่างความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

 

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เสนอดังนี้

 

1.เห็นชอบและอนุมัติให้มีการลงนามในร่างความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  (Agreement  between the Government  of the Kingdom of Thailand and the Government  of the Republic of the Philippines for Cooperation in the Field of Science and Technology) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำของร่างความตกลงฯ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญ เพื่อให้สอดคล้องกับผลประโยชน์และนโยบายของไทย ให้ วท. หารือร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ (กต.)  โดยกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เพื่อพิจารณาดำเนินการในเรื่องนั้น ๆ  แทนคณะรัฐมนตรี โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง

 

2.อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในร่างความตกลงดังกล่าว

 

3.มอบหมายให้ กต. จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers)  ให้แก่ผู้ลงนามตามข้อ 2

 

สาระสำคัญของร่างความตกลงฯ เป็นการส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างไทยและฟิลิปปินส์ให้เข้มแข็งและเกิดประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นต่อไป ในมิติของความสนใจร่วมกันบนหลักการของความเสมอภาคและผลประโยชน์ร่วมกัน โดยครอบคลุมรูปแบบความร่วมมือต่างๆ เช่น การวิจัยและพัฒนาร่วม การแลกเปลี่ยนนักวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้แทนด้านการศึกษา การวิจัย การแลกเปลี่ยนข้อมูลและเอกสารทางเทคนิค และการประชุมและสัมมนาในสาขาที่มีความสนใจร่วมกัน ซึ่งคู่ภาคีจะมีการเจรจาหารือเกี่ยวกับโครงการ สาขาและข้อกำหนดความร่วมมือ  รวมทั้งกำหนดกรอบแนวทางการดำเนินการ โดยร่างความตกลงฯ มีอายุ 5 ปี (นับจากวันที่ภาคีได้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรถึงความพร้อมในการดำเนินการฯ) และต่ออายุโดยอัตโนมัติเว้นแต่มีการแจ้งยกเลิกเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้าอย่างน้อย 6 เดือน

 

12.เรื่อง ท่าทีไทยและกรอบการเจรจาสำหรับการเจรจาตราสารห้ามอาวุธนิวเคลียร์

 

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการต่อทีท่าไทยและกรอบการเจรจาสำหรับการเจรจาตราสารห้ามอาวุธนิวเคลียร์ โดยหากจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขท่าทีไทยและกรอบเจรจาดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ หรือปรับเปลี่ยนกรอบการเจรจาตามสถานการณ์ที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงบรรยากาศและพัฒนาการในการประชุม โดยไม่ขัดต่อนโยบายของรัฐบาลและผลประโยชน์ของไทย ขอให้เป็นดุลยพินิจของหัวหน้าคณะผู้แทนไทยและ กต.เป็นผู้พิจารณาจนสิ้นสุดกระบวนการเจรจาตราสารห้ามอาวุธนิวเคลียร์ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ

 

สาระสำคัญของตราสารห้ามอาวุธนิวเคลียร์และท่าทีไทยและแนวทางในการเจรจา ประกอบด้วย

 

1. เนื้อหาสาระ จะครอบคลุมประเด็นสำคัญเช่นเดียวกันกับอนุสัญญาด้านการลดอาวุธส่วนใหญ่ เช่นอนุสัญญาห้ามอาวุธชีวภาพ อนุสัญญาห้ามอาวุธเคมี และอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (ไทยเป็นรัฐภาคีทั้ง 3 ฉบับ) ซึ่งจะเน้นการห้ามใช้  ผลิต จัดหา พัฒนา และครอบครองอาวุธและวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อการสงคราม หรือในทางมุ่งร้ายเท่านั้น โดยไม่ปิดกั้นแต่มุ่งส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อประโยชน์ในทางสันติและให้มีหลักประกันว่า รัฐภาคีจะไม่นำเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องไปใช้ในทางที่ขัดต่ออนุสัญญา

 

2. ท่าทีไทยและแนวทางในการเจรจา จะครอบคลุมสาระสำคัญในประเด็นตามข้อ 1 โดยอิงกับพันธกรณีภายใต้สนธิสัญญา NPT สนธิสัญญากรุงเทพฯ และสนธิสัญญาระหว่างประเทศอื่น ๆ ที่ไทยเป็นภาคี รวมทั้งขีดความสามารถ บริบทและผลประโยชน์ของไทย บนพื้นฐานของบรรทัดฐานระหว่างประเทศและหลักการสากล ซึ่งมุ่งเน้นการเสริมสร้างสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ขจัดภัยคุกคามจากอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ปิดกั้นช่องทางมิให้ผู้ไม่ประสงค์ดีและกลุ่มก่อการร้ายนำไปก่อเหตุในทางมิชอบ และเสริมสร้างความเชื่อมั่นในการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในทางสันติ รวมทั้งไม่ขัดต่อนโยบายของรัฐบาลไทย

 

13. เรื่อง การดำเนินงานโครงการความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างสาธารณรัฐฟิลิปปินส์และราชอาณาจักรไทย

 

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอ ดังนี้

 

1. เห็นชอบต่อร่างการดำเนินงานโครงการความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ปี 2017 – 2022 ระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ และ กก. แห่งราชอาณาจักรไทย และหากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างการดำเนินงานโครงการความร่วมมือฯ ที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้ กก.ดำเนินการได้โดยมิต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง

 

2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาหรือผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามอบหมายเป็นผู้ลงนามในร่างการดำเนินโครงการความร่วมมือฯ (โดยระบุตำแหน่ง)

 

ร่างการดำเนินงานโครงการความร่วมมือฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศ มีสาระสำคัญครอบคลุม 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว 2) การแลกเปลี่ยนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ 3) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการฝึกอบรม 4) การส่งเสริมการท่องเที่ยวและการตลาดร่วมกัน และ 5) คณะทำงานร่วม โดยจะมีการลงนามในร่างการดำเนินงานโครงการความร่วมมือฯ ในโอกาสการเดินทางเยือนราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ (นายโรดรีโก โรอา ดูแตร์เต) ในวันที่ 21 มีนาคม 2560 ณ กรุงเทพมหานคร

 

แต่งตั้ง

 

14. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)

 

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นางสาวบุษราวรรณ ศรีวรรธนะ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์การแพทย์ (จุลชีววิทยา) (นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เชี่ยวชาญ) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์การแพทย์ (จุลชีววิทยา) (นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ทรงคุณวุฒิ) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2559 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

 

15. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอแต่งตั้ง นายณัชนพงศ์ วชิรวงศ์บุรี รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไปเพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง

 

16. เรื่อง  การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอรับโอน นายปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านส่งเสริมสุขภาพ (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ) (ด้านสาธารณสุข) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง  โดยผู้มีอำนาจสั่งบรรจุของทั้งสองฝ่ายได้ตกลงยินยอมในการโอนแล้ว

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์แนวหน้าออนไลน์ วันที่ 21 มีนาคม 2560
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก