ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

กพร.ฝึกเทคโนโลยีถ่ายภาพสร้างอาชีพให้คนพิการ

วันที่ลงข่าว: 20/03/17
     ฝึกเทคโนโลยีถ่ายภาพสร้างอาชีพให้คนพิการ
         นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่าในปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตประจำวันของคนทุกกลุ่มทุกวัยมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มคนพิการที่เทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิต ทั้งเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกในการช่วยเหลือฟื้นฟูอวัยวะหรือสภาพจิตใจให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ และเทคโนโลยีก็ยังส่วนสำคัญในการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้แก่คนพิการได้เช่นกัน กระทรวงแรงงานโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) จึงดำเนินการตามนโยบายของพลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในการพัฒนาบุคลากร และทักษะฝีมือให้กับกำลังแรงงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการมีงานทำ ซึ่งจะสอดคล้อง 8 วาระปฏิรูป กระทรวงแรงงาน "มิติใหม่ของการส่งเสริมการมีงานทำแรงงานทั่วไป คนพิการ ผู้สูงอายุ" ด้วยการจัดทำโครงการศึกษารูปแบบการฝึกอาชีพคนพิการ หลักสูตรการถ่ายภาพและตกแต่งภาพมืออาชีพ เพื่อส่งเสริมให้คนพิการได้รับพัฒนาความรู้ด้านเทคโนโลยีการถ่ายภาพและตกแต่งภาพมืออาชีพ และสามารถนำความรู้ที่ได้รับมาเพิ่มทักษะอาชีพ และพัฒนาตนเองให้อยู่ร่วมกับคนทั่วไปได้อย่างเชื่อมั่น และมีประสิทธิภาพก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน
        นายธีรพล กล่าวต่อไปว่าเทคโนโลยีด้านการถ่ายภาพมีบทบาทกับงานด้านต่างๆ มากขึ้นเนื่องจากสื่อต่างๆ ใช้ภาพถ่ายเพื่อประโยชน์ทางการค้าอย่างกว้างขวาง การศึกษาและทำความเข้าใจการถ่ายภาพสามารถนำทักษะไปใช้ในการประกอบอาชีพ สิ่งเหล่านี้คนพิการควรมีโอกาสในการเข้าถึงและเรียนรู้เพื่อสร้างงานให้กับตนเอง กพร. จึงใช้แนวทางประชารัฐร่วมมือกับสมาคมแบ่งปันและสรรค์สร้างทางอาชีพฝึกอาชีพคนพิการหลักสูตรการถ่ายภาพและตกแต่งภาพมืออาชีพ ระยะเวลาการฝึกอบรม 60 ชั่วโมง ได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เช่น ทฤษฎีการถ่ายภาพ เรียนรู้การตกแต่งภาพ เรียนรู้นำภาพเข้าสู่ตลาด วิธีการเขียนคีย์เวิร์คและคำบรรยายภาพในการส่งภาพจำหน่าย การตกแต่งภาพขั้นพื้นฐานที่เหมาะสมกับงาน Stock Photo การถ่ายภาพในสตูดิโอ เป็นต้น โดยบริษัทเอกชน 5 แห่ง ได้แก่ บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ยูนิคอร์น (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท บีทาเก้น จำกัด และบริษัท อินเตอร์แดว้านซ์ฟูด จำกัด ได้มอบกล้องถ่ายรูปพร้อมอุปกรณ์ที่ใช้ในการฝึกอบรมให้แก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรม รวมมูลค่า 120,879 บาท ซึ่งผู้ผ่านการฝึกอบรมสามารถนำความรู้ที่ได้รับ นำไปประกอบอาชีพอิสระหรืออาชีพเสริมได้ โดยเฉพาะการใช้ช่องทางการขายภาพทางอินเตอร์เน็ต
         "การฝึกอบรมมีส่วนสำคัญอย่างมากในการนำเทคโนโลยีมาใช้การพัฒนาศักยภาพให้คนพิการได้มีงานทำในการเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว และยังเป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงขีดความสามารถของคนพิการที่ไม่แตกต่างจากคนปกติทั่วไปด้วย ซึ่งการฝึกอบรมในครั้งนี้เป็นการศึกษารูปแบบที่เหมาะสมในการพัฒนาฝีมือแรงงานให้คนพิการ โดยจะมีการขยายผลการฝึกอบรมหน่วยงานในสังกัดของกพร.สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานและสำนักพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศต่อไป" อธิบดีกพร. กล่าว
ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์บ้านเมืองออนไลน์ วันที่ 19 มีนาคม 2560
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก