ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ก.แรวงาน จับ2สถาบัน3สมาคม เร่งส่งเสริมพัฒนาอาชีพคนพิการ ดันตั้งศูนย์รองรับแบบยั่งยิน

วันที่ลงข่าว: 16/03/17

          นายวรานนท์   ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน  กล่าวว่า พลเอกศิริชัย   ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานให้ความสำคัญกับการส่งเสริมอาชีพคนพิการ โดยพร้อมจะขับเคลื่อนให้เกิดการจ้างงานและพัฒนาอาชีพคนพิการตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาล โดยได้สั่งการให้ทุกหน่วยในสังกัดกระทรวงแรงงานใช้กลไก “ประชารัฐ” ที่เน้นการบูรณาการร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อให้คนพิการมีงานทำอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เกิดความมั่นคงในชีวิตและมีรายได้ในการประกอบอาชีพ ซึ่งในส่วนของกรมการจัดหางานนั้นได้กำหนดกรอบแผนการส่งเสริมการมีงานทำให้คนพิการ 20 ปี (2560-2579) 

 

          "โดยมุ่งให้คนพิการมีงานทำและมีรายได้ สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี ซึ่งใน 5 ปี แรก (2560-2564) ตั้งเป้าหมายให้คนพิการมีงานทำตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 จำนวน 3,000 คนต่อปี และมาตรา 35 จำนวน 10,000 คนต่อปี และมีรายได้เหนือเส้นรายได้ปานกลาง ซึ่งขณะนี้กรมการจัดหางานได้มีการหารือร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาลัยราชสุดา สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึมไทยและสมาคมการค้าผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคมคนพิการและผู้ด้อยโอกาสไทยเกี่ยวกับการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะด้านวิชาชีพของคนพิการในประเทศไทย (JOB COACHTHAILAND CENTER) ที่กระทรวงแรงงาน"อธิบดี กกจ. กล่าว

 

          อธิบดี กกจ. กล่าวอีกว่า ศูนย์แห่งนี้จะสามารถตอบโจทย์ปัญหาการจ้างงานคนพิการได้ เนื่องจากที่ผ่านมาระบบการจ้างงานคนพิการยังขาดกระบวนการเชื่อมโยงประสานงานระหว่างคนพิการและนายจ้างในการเป็นที่ปรึกษาแนะนำการจ้างงานคนพิการให้เหมาะกับตำแหน่งงานของสถานประกอบการขาดเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก นวัตกรรมในการส่งเสริมการมีงานทำและการประกอบอาชีพของคนพิการ ทำให้สถานประกอบการได้คนพิการไม่ตรงและไม่สอดคล้องกับความสามารถของ คนพิการ ดังนั้น จึงเกิดแนวคิดในการพัฒนาระบบบ่มเพาะคนพิการสู่การมีงานทำ โดยเริ่มจากการพัฒนาวิธีคิด ความเชื่อ ความรู้ของคนพิการ/ครอบครัว และนายจ้าง/ผู้ซื้อสินค้า บริการและชุมชน/สังคม ผู้สอนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีที่จำเป็น เช่น อุปกรณ์ช่วยเหลือในการเดินทาง สิ่งอำนวยความสะดวกในการทำงาน เป็นต้น

 

          ศูนย์ JOB COACHมี 3กระบวนการหลักคือ 1) การบ่มเพาะก่อนจ้างงานจะเป็นระบบคัดกรองความสามารถในการมีงานทำของคนพิการ มีพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาในด้านต่าง ๆ เช่นการเตรียมความพร้อม การปรับทัศนคติก่อนเข้าสู่การทำงานเป็นต้น 2) การส่งต่อ เป็นการสนับสนุนเข้าสู่การจ้างงาน โดยคำนึงถึงความแตกต่างและความถนัดของบุคคล ซึ่งคนพิการ ที่มีความพร้อมเข้าสู่กระบวนการมีงานทำจะได้รับการจ้างงานในสถานประกอบการและสามารถทำงานได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ขณะเดียวกันหากไม่สามารถทำงานในสถานประกอบการได้ก็จะสนับสนุนให้เป็นผู้ประกอบการต่อไป3) การรักษา เป็นการพัฒนาหลังจ้างงาน เพื่อทำให้คนพิการสามารถมีโอกาสทำงานในสถานประกอบการได้มากขึ้น และมีทักษะในวิชาชีพที่ได้มาตรฐานเพื่อให้ได้ค่าตอบแทนในการจ้างงานที่สูงขึ้น นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้สถานประกอบการจัดซื้อสินค้าและบริการของคนพิการ

 

         นายวรานนท์  กล่าวเพิ่มเติมว่า  ศูนย์JOB COACHเป็นการจัดทำระบบสนับสนุนบ่มเพาะการจ้างงานคนพิการครั้งแรกในประเทศไทย เริ่มตั้งแต่การคัดกรองรับสมัครคนพิการ การจำลองศูนย์การฝึกวิชาชีพตามความต้องการของภาคเอกชน พร้อมทั้งMatchingคนพิการที่ผ่านการอบรมเข้ารับการจ้างกับองค์กรเอกชน และมีการติดตามการทำงานของคนพิการที่เข้าทำงานในสถานประกอบการมีเป้าหมายคนพิการมาใช้บริการ 2,000คน มีสาขาอาชีพที่ฝึกในเบื้องต้นประมาณ 10 สาขา เช่น ภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การบริการ การก่อสร้าง เป็นต้นซึ่งหากได้รับการตอบรับที่ดีจากคนพิการและสถานประกอบการก็จะได้พัฒนาไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศต่อไป

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์คมชัดลึกออนไลน์ วันที่ 12 มีนาคม 2560
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก

Fatal error: Call to undefined function drupal_get_path() in /usr/local/www/apache22/data/Braille-new/sites/all/modules/better_statistics/better_statistics.module on line 181