ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

รอยยิ้ม-ความสุข-ชีวิตใหม่ 2 ทศวรรษขาเทียมพระราชทาน

วันที่ลงข่าว: 16/03/17
“ขอให้มีอวัยวะครบ 32 ประการ”
        เชื่อเหลือเกินว่านี่คงเป็น “ความปรารถนาที่สุด” ของมนุษย์ไม่ว่ายากดีมีจน คือตั้งแต่วันที่ลืมตาดูโลกจวบจนวันสุดท้ายของชีวิต เพราะหากสภาพร่างกายสมบูรณ์ย่อมสามารถ “ทำงานเลี้ยงชีพ” ได้อย่างเต็มที่ไม่ต้องให้ใครเป็นห่วงทว่าด้วยสัจธรรม “ไม่มีอะไรแน่นอน” วันหนึ่งใครจะรู้ว่า อาจมีเหตุการณ์ที่ทำให้ “สูญเสียอวัยวะ” กลายเป็นบุคคล “ทุพพลภาพ” หรือเรียกแบบ
ภาษาบ้านๆ ว่า..ผู้พิการ!!!
การประดิษฐ์ขาเทียมจากทรัพยากรในประเทศ
        ข้อมูลการขึ้นทะเบียนผู้พิการในประเทศไทย โดย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ระบุว่า นับจากวันที่ 1 พ.ย. 2537-28 ก.พ. 2560 มีผู้พิการที่ยังมีชีวิตอยู่ทั่วประเทศ รวม 1,731,598 คน อยู่ในกรุงเทพฯ 71,750 คน จังหวัดอื่นๆ 1,659,848 คน ทั้งนี้ในส่วนของภูมิภาคต่างๆ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีผู้พิการที่ยังมีชีวิตอยู่มากที่สุด 695,799 คน
 
        ขณะที่ข้อมูล สถิติข้อมูลคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ จำแนกตามจังหวัด ประเภทความพิการ และเพศ โดยเว็บไซต์ ศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ (data.go.th) ระบุว่า นับจากวันที่ 1 พ.ย. 2537-31 ต.ค. 2558 ประเภทผู้พิการที่มีจำนวนมากที่สุดคือ “ทางการเคลื่อนไหว” แขนขาลีบ คดงอ อัมพาตอ่อนแรง จนถึง “ขาดด้วน” ทั่วประเทศอยู่ที่ 819,807 คน ผู้พิการเหล่านี้หลายคนใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีฐานะ..ยากจน!!!
ขั้นตอนการประดิษฐ์ขาเทียมพระราชทาน
        “ช่างทุกคนที่เข้ามาทำงานให้มูลนิธิขาเทียมฯล้วนมีความสุขที่ได้ช่วยเหลือผู้พิการ ทุกคนเต็มใจช่วยงาน และยิ้มอย่างมีความสุขทุกครั้งที่เห็นรอยยิ้มของผู้ที่ได้รับขาเทียมพระราชทาน เห็นสีหน้า แววตาอันสดใส มีความหวังของเด็กน้อยหลายๆ คนที่พิการแต่กำเนิด เมื่อสวมใส่ขาเทียมและหัดเดินได้แล้ว มันเหมือนได้ชีวิตใหม่”
        คำบอกเล่าด้วยความประทับใจ ของรศ.นพ.วัชระ รุจิเวชพงศธร กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หลังการออกหน่วยช่วยเหลือผู้พิการ “ขาขาด” ครั้งล่าสุด ระหว่างวันที่ 19-24 ก.พ. 2560 ที่ผ่านมา ณ วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร (องค์พระปฐมเจดีย์) จ.นครปฐมซึ่งในปีงบประมาณ 2560 นี้ถือเป็น..ครั้งที่ 4!!!
สัญลักษณ์มูลนิธิขาเทียม
         มูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ก่อตั้งขึ้นในปี 2535 เมื่อ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี “สมเด็จย่า” ทรงทราบว่า รศ.นพ.เทอดชัย ชีวะเกตุ สามารถประดิษฐ์ขาเทียมที่มีน้ำหนักเบา สวมใส่ สบาย จากขยะพลาสติกและมีราคาถูกกว่าขาเทียมต่างประเทศถึง 10 เท่า จึงทรงมีพระราชดำริ ให้จัดตั้งมูลนิธิขึ้นเพื่อทำขาเทียมให้แก่คนพิการขาขาดที่ยากไร้ด้อยโอกาสโดยไม่คิดมูลค่า และไม่เลือกเชื้อชาติหรือศาสนา
        โดยมีภารกิจ 4 ประการ คือ 1.ดำเนินการค้นคว้าหาวิธีการทำขาเทียมระดับต่างๆ ที่ใช้การได้ดี และช่างทุกคนสามารถทำได้ 2.ค้นคว้าทดลองประดิษฐ์ชิ้นส่วนขาเทียมจากทรัพยากรในประเทศที่ทนทานและใช้งานได้เหมาะสมกับ ภูมิประเทศ ประดิษฐ์อุปกรณ์การทำขาเทียมเพื่อช่วยให้ช่างสามารถทำขาเทียมที่ดีถูกต้องตามมาตรฐานให้เสร็จรวดเร็ว 3.ดำเนินการอบรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะให้แก่ช่างกายอุปกรณ์ ทั้งในประเทศและภูมิภาค และ 4.จัดการศึกษาเพื่อเผยแพร่ความรู้งานกายอุปกรณ์ แก่ผู้ปฏิบัติงานระบบโครงสร้างของร่างกาย
         รศ.นพ.วัชระ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามูลนิธิขาเทียมฯ ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอุตสาหกรรมหลายหน่วยงานก่อนจะส่งต่อให้กับบริษัท อีสเทิร์น โพลีแพค จำกัด (EPP) ผู้ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติก บริษัทย่อยของบริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG นำไปผลิตเป็นแผ่นพลาสติก
         ก่อนส่งต่อไปให้กับมูลนิธิขาเทียมฯ นำไปหลอมและขึ้นรูปเบ้าขาเทียมจากพลาสติกนับเป็นความร่วมมือสำคัญของผู้ผลิตตั้งแต่ต้นน้ำและกลางน้ำที่มีเป้าหมายเดียวกันในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือด้านงานวิจัย โดยทางมูลนิธิขาเทียมฯ ต้องการพลาสติกที่มีความโปร่งใส น้ำหนักเบาขึ้น และเหมาะกับการขึ้นรูปด้วยความร้อนเพื่อผลิตขาเทียมที่มีคุณภาพสูงขึ้น ผู้พิการสวมใส่แล้วใช้ชีวิตประจำวันสบายขึ้น
        ด้วยเหตุนี้กลุ่มบริษัท EPG โดย EPP ผู้ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติก จึงได้ร่วมมือกับมูลนิธิขาเทียมฯ ค้นคว้าวิจัยและทดสอบ กับมูลนิธิขาเทียมฯ และผู้ผลิตเม็ดพลาสติก โดย EPP ได้ใช้ศูนย์วิจัยของตนเองทำการทดสอบ โดยนำเม็ดพลาสติกหลากหลายประเภทมาผลิตเป็นแผ่นพลาสติก และนำไปทดสอบกับเครื่องมือของทางมูลนิธิขาเทียมฯ เพื่อขึ้นรูปเป็นขาเทียมซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการ..ร่วมพัฒนา!!!
        รศ.นพ.วัชระ กล่าวอีกว่า ในส่วนของช่างวัดรอบขา สำหรับทำ “เบ้าหลอม” ขาเทียม ส่วนใหญ่จะเป็นช่างที่ต้องผ่านหลักสูตรฝึกอบรมเป็นระยะเวลา 5 เดือนของมูลนิธิขาเทียมฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการ “สร้างอาชีพให้แก่ผู้พิการ” อีกทั้งยังได้ประโยชน์มาก เพราะการจัดทำเบ้าหลอมจำเป็นต้อง “พิถีพิถัน” เอาใจใส่เป็นพิเศษ เนื่องจากตัวช่างเองก็ใส่ขาเทียมเหมือนกัน จึง “เข้าถึง” ผู้พิการได้เป็นอย่างดี รู้ว่าจุดไหนสำคัญไม่ควรมองข้าม
        “ผมทำงานตรงนี้มาร่วม 7 ปี มีความสุขทุกครั้งที่เห็นภาพเช่นนี้ เพราะเด็กเขาต้องการขาเพื่อนำไปสร้างการพัฒนาการด้านสมอง รวมถึงการเติบโตด้านร่างกาย เพราะหากปล่อยไปโครงสร้างของร่างกายอาจจะเปลี่ยนแปลงไป เช่น หลังคด” กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิขาเทียม ระบุ
        ตลอดทั้งวันของการออกหน่วยครั้งนี้ มีญาติๆ ของผู้พิการที่ประสงค์ขอรับขาเทียมพระราชทาน มาวัดสัดส่วน ดูลักษณะ รอบขาที่พิการว่าเป็นแบบไหน โค้งเว้าอย่างไร เพื่อประเมินว่าต้องใส่ขาเทียมในรูปแบบใดจึงจะเหมาะสมทำให้สามารถช่วยเหลือตัวเองเดินได้อย่างเป็นธรรมชาติมากที่สุด โดยมีเจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร ช่างหลอม ช่างหล่อร่วม 30 ชีวิต คอยให้บริการ
        แม้ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จะเสด็จสวรรคตไปแล้ว เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2538 แต่มูลนิธิขาเทียมฯ ซึ่งพระองค์ทรงริเริ่มไว้ ยังคงมีผู้“สืบสานพระราชปณิธาน” ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้พิการยากไร้อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้สำหรับประชาชนที่สนใจร่วมรับขาเทียมพระราชทาน ขณะนี้ ทางมูลนิธิขาเทียมฯ ได้ตั้งโรงงานขาเทียมพระราชทานประจำอยู่ตามโรงพยาบาลหลักทั่วประเทศแล้ว 74 แห่ง และในปี 2560 จะเพิ่มขึ้นเป็น 80 กว่าแห่ง ส่วนงานออกหน่วยครั้งต่อไป จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-19 พ.ค. 2560 ณ จ.อุบลราชธานี
 
ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สำนักงานเชียงใหม่ 199 หมู่ 4 ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ 50180 โทร.053-112271-3
ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์แนวหน้าออนไลน์ วันที่ 15 มีนาคม 2560
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก