ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สสจ.นครพนม เตือนระวังโรคที่มากับหน้าร้อนพร้อมแนะวิธีดูแลตนเองให้ปลอดภัย

วันที่ลงข่าว: 16/03/17

        นายแพทย์จรัญ จันทมัตตุการ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า ชาวงนี้เป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านฤดูจากหนาวมาสู่ร้อน ซึ่งโรคที่มากับฤดูร้อนหลักๆ จะเป็นโรคที่เกี่ยวกับทางเดินอาหาร เพราะอากาศร้อนจะทำให้การเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่บนเปื้อนมากับอาหารเจริญเติบโตได้ดี รวมถึงอาหารเสียได้ง่าย เช่นโรคอุจจาระร่วงโรคอาหารเป็นพิษ โรคบิด อหิวาตกโรคอหิวาตกโรค ไข้รากสาดน้อยหรือไข้ไทฟอยด์ ซึ่งข้อมูลระบาดวิทยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม ตั้งแต่ต้นปี 2560 มีรายงานผู้ป่วย ทั้ง 5 โรค รวม 1,830 ราย โรคที่พบมากได้แก่ โรคอุจจาระร่วง 1,620 ราย รองลงมา คือ โรคอาหารเป็นพิษ 191 ราย โรคบิด 19 ราย ตามลำดับ โดยกลุ่มอายุที่พบมากสุดคือผู้สูงอายุ 55 ปีขึ้นไปและเด็กเล็ก

        ดังนั้น จึงขอฝากไปยังพี่น้องประชาชนในการดูแลสุขภาพตนเองให้ดี โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีโอกาสสูญเสียน้ำในร่างกายได้ง่าย รวมถึงผู้สูงอายุและผู้พิการด้วย โดยขั้นตอนการปฏิบัติตนนั้นจำง่ายๆ คือกินร้อนช้อนกลาง ล้างมือ และอีกโรคที่ต้องระวังคือโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยในช่วงหน้าร้อน โดยเราจะต้องดูแลสุนัข แมว กระต่ายให้ดีนำไปฉีดวัคซีนให้ครบทุกตัว ถ้าสัตว์เหล่านี้มีอาการผิดปกติ เช่นน้ำลายยึด คอแข็ง หรือไล่กัดตัวอื่น ก็ต้องระมัดระวังอย่าเข้าใกล้สัตว์เหล่านี้ และถ้าเกิดมีเหตุโดนสัตว์เหล่านี้กัด ข่วน หรือโดนทำร้ายให้ล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำสบู่

        นอกจากนั้น รีบไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโดยทันที ข้อสำคัญคืออย่าแหย่ อย่าแหย่ให้สัตว์เหล่านี้โมโห ตกใจ หรือถ้ากัดกันอยู่ก็อย่าเข้าไปแยกด้วยมือเปล่า รวมถึงอย่าหยิบชามอาหารขณะสัตว์กำลังกิน และอย่ายุ่งกับสัตว์ที่เราไม่ทราบประวัติ และอีกโรคคือโรคลมแดด ซึ่งสาเหตุมาจากที่ร่างกายขาดน้ำมากเกินไป ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะผู้ที่ออกกำลังกายและการทำงานหนักกลางแจ้ง ขออย่าหักโหมมากจนเกินไปควรพักในร่มเป็นระยะแล้วดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ส่วนขั้นตอนการปฏิบัติเมื่อพบผู้ที่มีอาการ คือ ให้นำร่างผู้ป่วยเข้าในร่มโดยให้นอนราบกับพื้นและยกเท้าสูงเพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือด ถอดคลายเสื้อผ้า รวมถึงทำให้อุณหภูมิในร่างกายผู้ป่วยลดลงเร็วที่สุด เช่น ใช้น้ำเย็นประคบบริเวณใบหน้า ข้อพับ ขาหนีบ ใช้พัดลมเป่าเพื่อระบายความร้อน จากนั้นรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

ที่มาของข่าว สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก