ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

เพิ่มอัตราครูผู้สอนคนพิการ เร่งความเหลื่อมล้ำในการเรียนรู้ พัฒนาการเรียนรู้ให้เป็น'หลักสูตรเต็มใบ'

วันที่ลงข่าว: 09/03/17

        เมื่อสามวันที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้มีการจัดเวทีเสวนา TRF Forum “แนวทางการจัดการศึกษาพิเศษสำหรับผู้พิการและผู้มีความบกพร่องในการเรียนรู้” เพื่อนำเสนอผลการวิจัย ข้อค้นพบ และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ได้จากงานวิจัยที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษาพิเศษสำหรับผู้พิการ โดยเห็นว่าผู้พิการเป็นทรัพยากรบุคคลของสังคม หากได้รับการส่งเสริมที่ถูกต้อง ย่อมมีความรู้ ความสามารถ มีศักยภาพที่จะประกอบอาชีพ พึ่งพาตนเองและดำรงชีวิตอยู่อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับผู้อื่นในสังคม

 

        ในงานนี้ รศ.สร้อยสุดา วิทยากร นักวิจัยจากสาขาวิชาการศึกษาพิเศษ คณะศึกษาศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ได้เปิดเผยถึง การทำการศึกษาวิจัยเรื่อง “การปรับแต่งและอำนวยความสะดวกในการสอนผู้เรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ในห้องเรียนร่วมระดับประถมศึกษา” ให้ข้อเสนอแนะว่า รัฐจำเป็นต้องทบทวนกระบวนการสร้างครูการศึกษาพิเศษระดับปริญญาตรี หลักสูตรผลิตครูการศึกษาพิเศษควรเป็น “หลักสูตรเต็มใบ” กล่าวคือ แยกออกมาเป็นสาขาวิชาเฉพาะไม่ใช่หลักสูตรเอกคู่ที่เรียบร่วมไปกับสาขาวิขาอื่น ทั้งนี้ในประเทศไทยมีเพียง 3 มหาวิทยาลัยที่สร้างครูการศึกษาพิเศษ คือ ม.เชียงใหม่ (คู่กับการศึกษาปฐมวัย) ม.ราชภัฏสกลนคร (คู่กับการสอนภาษาอังกฤษ) ม.ราชภัฏเชียงราย (เปิดเป็นเอกเดี่ยว) ทั้งที่ในความเป็นจริง มีหลายมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพในการเปิดเป็นเอกเดี่ยวได้และบางมหาวิทยาลัยที่รับอยู่กำลังจะปิดหลักสูตรนี้ ดังนั้นรัฐต้องกำหนดนโยบายและเป้าหมายของการพัฒนาครูประจำการเพื่อช่วยเหลือผู้เรียนพิการประเภทต่างๆให้ชัดเจน เพื่อรับครูที่มีวุฒิตรง โดยมีข้อสังเกตว่าครูที่สนใจเข้ารับการอบรมที่จะช่วยเหลือผู้เรียนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นครูใกล้เกษียณอายุราชการ อาจทำให้การช่วยเหลือไม่ต่อเนื่อง ไม่พอเพียง และไม่ยั่งยืน นอกจากนี้การบรรจุการศึกษาพิเศษจบใหม่ รัฐต้องกำหนดนโยบายให้ทุกโรงเรียนกำหนดตำแหน่งและรับครูการศึกษาพิเศษเข้าไปสอนในโรงเรียน ซึ่งปัจจุบันตำแหน่งครูการศึกษาพิเศษจะมีเฉพาะในโรงเรียนหรือหน่วยงานสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษและโรงเรียนที่ประกาศรับครูการศึกษาพิเศษ ซึ่งเป็นโรงเรียนสังกัดพื้นที่ กทม.เท่านั้น

 

        ดร.สัญชัย สันติเวส นักวิจัยจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ขอนแก่น ผู้ได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง “การออกแบบสื่อเพื่อการจัดการเรียนรู้วิชาศิลปะ(ทัศนศิลป์) สำหรับนักเรียนตาบอดระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย” บอกให้ทราบว่า จากการสัมภาษณ์ครูสอนวิชาศิลปะโรงเรียนหนึ่งพบว่า มีนักเรียน 15 ห้อง แยกสอนนักเรียนตาบอดไม่ได้ เพราะมีเวลาจำกัด ไม่มีวิธีการสอนเฉพาะเจาะจงสำหรับนักเรียนตาบอด ไม่มีสื่อการสอนช่วยในการเรียนรู้วิชาศิลปะ ช่วงหลังมาหลักสูตรเปลี่ยนแปลงทำให้คาบเวลาการสอนศิลปะน้อยลง คุณครูเห็นด้วยถ้าจะมีครูผู้ช่วยสอนคอยดูแลนักเรียน ตาบอดซึ่งอาจเป็นนักศึกษาครูฝึกงานก็ได้ ซึ่งทีมวิจัยได้ออกแบบสื่อการเรียนรู้แบ่งเป็น 7 ประเภทได้แก่ 1.ภาพนูนต่ำ 2.หุ่นลอยตัว 3.หุ่นกระดาษพับ 4.กระดาษมีกลิ่นและพื้นผิว 5.โปรแกรมวาดภาพระบายสี 6.ดินน้ำมัน และ 7.คลิปเสียง ซึ่งผลการนำสื่อดังกล่าวไปใช้กับนักเรียนตาบอดพบว่า น้องๆ มีการปรับตัว เกิดความพึงพอใจมีความสุข มีความรู้สึกเท่าเทียมและเสมอภาค ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ได้เข้ามาอุดช่องโหว่ทฤษฎีการเรียนวิชาศิลปะปฏิบัติที่ต้องอยู่บนพื้นฐานของการมองเห็น

 

        นอกจากนี้นักวิจัยยังมีข้อเสนอแนะให้กับภาคนโยบายว่า การให้ความสำคัญกับการศึกษาของผู้พิการทั้งทางสายตาและด้านอื่นๆ ควรกำหนดเป็นนโยบายระดับชาติ เช่น ได้ลดภาษี ได้เงินสนับสนุนจากรัฐบาล เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้ ถือเป็นเรื่องที่ภาครัฐควรให้ความสนใจอีกเรื่องหนึ่ง

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์แนวหน้าออนไลน์ วันที่ 9 มีนาคม 2560
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก