ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน เร่งผลักดันตั้งคลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งอาเซียน (AHC) หลังอุณหภูมิในมหาสมุทรแปซิฟิกสูงขึ้นมากถึง 1.03 องศาเซลเซียส พร้อมชื่นชม ระบบการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย

วันที่ลงข่าว: 09/03/17

        นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) กล่าวถึงการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดตั้งคลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งอาเซียน (AHC) ภายในงาน ASEAN Next 2017 ที่มีผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมหารือครั้งแรก ว่า ได้พูดคุยสิ่งที่ต้องทำร่วมกันรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกในปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย โดยเอเชียมักสร้างเมืองขนาดใหญ่มีประชากรกว่า 10 ล้านคน แตกต่างจากเมืองในแถบยุโรปเป็นเมืองขนาดเล็กมีประชากรประมาณ 1 ล้านคน ส่งผลให้เมืองขนาดใหญ่เสี่ยงจะเกิดภัยพิบัติและหลายพื้นที่เมืองใหญ่สร้างเมืองขวางทางระบายน้ำ จนสร้างโดมความร้อนปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศโลกทำให้เกิดฝนตกมากเกินไป ในส่วนของผู้แทนสำนักงานเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ(UNISDR) ได้ชี้ให้เห็นว่า ปี 2559 ที่ผ่านมาอุณหภูมิในมหาสมุทรแปซิฟิกสูงขึ้นมากถึง 1.03 องศาเซลเซียส ซึ่งไม่เคยเกิดอุณหภูมิสูงมากรวดเร็วขนาดนี้มาก่อน ไม่สอดคล้องกับการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ครั้งที่ 21 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี 2558 ที่ให้ทุกประเทศจะร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามข้อตกลงปารีส ตั้งเป้าควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส ซึ่งเสี่ยงอันตรายสูงเกิดภัยพิบัติ ขณะเดียวกันได้กล่าวบกย่องประเทศไทยที่ทำระบบการบริหารจัดการน้ำทั้งในระดับประเทศและระดับชุมชน นับเป็นการแสดงให้เห็นถึงความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำและอาหาร ควบคู่กับการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาทำระบบสารสนเทศทรัพยากรน้ำและภูมิอากาศ ที่สามารถนำไปปรับปรุงการจัดการในสภาวะปกติให้ดีขึ้นช่วยให้ภัยพิบัติน้อยลง ที่สำคัญการมีข้อมูลรอบด้านและลงลึกในรายละเอียด เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นสามารถบริหารจัดการได้ โดยผู้แทนจาก UNFCCC สนับสนุนให้ดำเนินการต่อไป เนื่องจากโลกเริ่มวิกฤตขึ้นและอุณหภูมิมหาสมุทรเพิ่มขึ้นสูง

        ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. กล่าวย้ำว่า ผู้แทนจากศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย(ADPC) ได้ชี้ให้เห็นว่า ภัยพิบัติได้สร้างความเสียหายอย่างมากในหลายๆด้าน โดยเฉพาะอาเซียนเกิดความเสียหายปีละกว่า 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯที่เกิดจากภัยพิบัติธรรมชาติ หากมีการบริหารจัดการที่ดี เช่น ระบบเตือนภัยแม่นยำและดีขึ้น ทั้งนี้ หากลดความเสียหายลงได้ปีละ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จะช่วยให้เอเชียเศรษฐกิจเติบโตขึ้น แล้วนำงบประมาณที่เหลือไปแก้ปัญหาความยากจนในภูมิภาคได้ สำหรับระบบคลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งอาเซียน (AHC) ต้องเริ่มจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน เพราะหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจนทำให้เกิดฝนตกเพียง 1 ใน 3 ของหลายพื้นที่ทั่วโลกและแนวฝนเปลี่ยนเส้นทางทั้งหมด เช่น ออสเตรียเลีย

ที่มาของข่าว สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก