ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สสวท. ผลักดัน “สะเต็มศึกษา” มุ่งพัฒนาสู่สายอาชีพ

วันที่ลงข่าว: 08/03/17

        การศึกษานับวันจะยิ่งพัฒนาก้าวไกลอย่างไม่หยุดยั้ง ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้น ประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ที่ติดอันดับต้นๆ ในการสำรวจและจัดอันดับ ของโลกและเอเชียตลอดมา ทำให้หลายองค์กรที่มีบทบาทในการพัฒนาการศึกษาของประเทศ ต่างจับตามองสิงคโปร์เป็นเป้าหมายทางการศึกษา

       สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการซึ่งมุ่งหน้าขับเคลื่อนการพัฒนา “STEM” (ย่อมาจากอักษรย่อของ 4 สาขาวิชาสำคัญ ได้แก่ S-Science : วิทยาศาสตร์ T-Technology : เทคโนโลยี M-Mathematics : คณิตศาสตร์ และ E-Engineering : วิศวกรรมศาสตร์) จึงได้ร่วมกับ มูลนิธิเทมาเส็ก (Temasek Foundation) สถาบันการศึกษาแห่งชาติสิงคโปร์ (NIE) และสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา พัฒนาผู้นำการเรียนการสอนสะเต็ม เพื่อเตรียมความพร้อมสู่สายอาชีพ

เพราะเหตุใดจึงต้องเชื่อมโยง “STEM” เข้าสู่สายอาชีพ? 

        เนื่องจากการศึกษายุคปัจจุบัน เป็นการเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 ซึ่งมีความจำเป็นต้องปรับบทบาทการเรียนการสอน ซึ่งต้องมากกว่าการเตรียมความพร้อมของผู้สอนและผู้เรียน แต่เป็นการเตรียมพัฒนาศักยภาพการเรียนการสอนทั้งระบบให้เป็นคนที่มีทักษะในศตวรรษที่ 21 กล่าวคือ เป็นผู้ที่สามารถคิด วิเคราะห์ บูรณาการข้อมูลต่างๆรอบตัวมาแก้ปัญหาได้ ควบคู่กับการมีคุณธรรม จริยธรรม

 

        ดังนั้น สะเต็มศึกษาจึงเป็นทางออกที่สมบูรณ์สำหรับการพัฒนาเยาวชนในยุคการศึกษา 4.0 และนอกจากนี้ “จะทำอย่างไร ให้นักเรียนนักศึกษา สามารถมีศักยภาพพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานได้” จึงเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ สสวท.ได้ส่งเสริม เชื่อมโยงสะเต็มศึกษาเข้าสู่สายอาชีพ ผ่านการเรียนการสอนอาชีวศึกษา โดยเริ่มจากการเน้นการพัฒนาครูผู้สอนและผู้สร้างหลักสูตรการตั้งโจทย์ เพื่อคิดและฝึกฝนให้มีประสิทธิภาพในการถ่ายทอดความรู้ให้ผู้เรียนหรือผู้รับสารได้เข้าใจมากที่สุด โดยการทำให้เกิดการบูรณาการในการเรียนการสอนระหว่างวิชาเข้าด้วยกัน นำไปสู่การคิดแก้ปัญหาและการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ในชีวิตประจำวันและการทำงาน ที่ไม่ใช่แค่การอ่านในตำราเท่านั้น

 

“สะเต็มศึกษาเป็นสิ่งที่พบเห็นได้อยู่รอบตัว ทำให้เกิดทักษะในหลาย ๆ ด้าน เป็นนักคิด วิเคราะห์ ลงมือทดลอง จนกว่าจะเกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง”

      บทบาทหน้าที่สำคัญของหน่วยงานต่างๆที่พร้อมเข้ามาช่วยพัฒนาสะเต็มสู่สายอาชีพ 

รศ.ดร.ธัชชัย สุมิตร ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท) กล่าวถึงความสำคัญในการขยายแนวทางการสอนด้วยสะเต็มไปสู่ระบบอาชีวศึกษาว่า เนื่องจากเป็นระบบที่มีข้อได้เปรียบ ในแง่ของระยะเวลาการอยู่ในระบบการศึกษา รวมถึงการประยุกต์ทักษะและความรู้เพื่อการประกอบอาชีพได้ทันท่วงที ตรงกับความต้องการของตลาด ระบบอาชีวศึกษาจึงถือเป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญในการผลิตกำลังคนที่ถึงพร้อมด้วยทักษะเพื่อรับมือกับการแข่งขันในศตวรรษที่ 21

        รศ. ดร. สัญญา มิตรเอม รองผู้อำนวยการ สสวท. กล่าวเพิ่มเติมว่า การเรียนรู้ด้านสะเต็มศึกษาสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทย ที่ต้องการสร้างผู้ประกอบการเทคโนโลยีใหม่ รวมทั้งผลิตกำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ให้สามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ เตรียมกำลังคนสู่อนาคต ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้พัฒนาและสนับสนุนการศึกษาด้านสะเต็มมาอย่างต่อเนื่อง

        ศ. ดร.ตัน ออน เส็ง ผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาแห่งชาติสิงคโปร์ (NIE) ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการขับเคลื่อนโครงการนี้ว่า NIE เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการพัฒนาครู โดยเฉพาะครูวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ NIE จึงมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้มาทำโครงการร่วมกับ สสวท. และอาชีวศึกษาในประเทศไทย เพื่อพัฒนาครูให้เป็นกำลังคนในการพัฒนาเด็กให้เป็นกำลังสำคัญในอาเซียน

        การดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ ได้มีการคัดเลือกและอบรมครู อาจารย์และนักวิชาการที่ปฏิบัติงานในโรงเรียนในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และตอนปลาย และจากสถาบันอาชีวศึกษา เพื่อสร้างผู้นำการขับเคลื่อนสะเต็มศึกษาและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้แนวทางสะเต็มจัดการเรียนรู้ทั้งในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย และระบบอาชีวศึกษา โดยใช้หลักสูตรที่พัฒนาโดยสถาบันการศึกษาแห่งชาติสิงคโปร์ ซึ่งเป็นสถาบันการอบรมครูเพียงแห่งเดียวในประเทศสิงคโปร์ ภายใต้ Nanyang Technical University ประเทศสิงคโปร์

        ตามกระบวนการจะคัดเลือกบุคลากรทางการศึกษา 140 ท่านมาฝึกอบรมเป็นระยะเวลา 2 ปี โดยในขั้นตอนแรกทุกคนจะต้องเข้าการอบรมระดับที่ 1 เพื่อคัดให้เหลือ 40 คน จากนั้นก็เข้ารับการอบรมระดับ 2 และ3 เพื่อคัดเหลือ 10 คน สู่การเป็นผู้นำด้านการพัฒนาหลักสูตร มาเป็นต้นแบบถ่ายทอดองค์ความรู้กลับไปสู่บุคลากรที่เหลือในด้านการพัฒนาหลักสูตร จากนั้นจะคัดเลือกจากทั้งหมด จำนวน 20 คนเพื่อไปเข้าอบรมเวิร์คช็อประดับที่ 6 และ 7 ที่ประเทศสิงคโปร์

บทบาทของอาชีวศึกษากับสะเต็มศึกษา 

        ส่วนของ อาชีวศึกษานั้น นายวณิชย์ อ่วมศรี เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า ได้มีการดำเนินการสนับสนุนเพื่อเสริมสร้างกำลังคนให้มีศักยภาพมากขึ้นโดยมีนโยบายการบูรณาการสะเต็มศึกษาในการเรียนการสอนระดับอาชีวศึกษา และบางส่วนได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ก็ได้สนับสนุนบุคลากรและงบประมาณสำหรับบุคลากร ในการเข้ารับการอบรมและคัดเลือกให้เป็นวิทยากรหลักของโครงการ และจะมีการขยายผลไปสู่สถานศึกษาสังกัดคณะกรรมการการอาชีวศึกษาในแต่ละภูมิภาค

        ทั้งนี้ สะเต็มศึกษาไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องการบูรณาการระหว่างศาสตร์ต่างๆ ที่สสวท. ได้ผลักดันให้โรงรียนได้ทำโครงงานมาเป็นระยะเวลายาวนาน ซึ่งหลายๆ โครงงานได้รางวัลในระดับนานาชาติ อาทิ โครงงานนวัตกรรมการกักเก็บน้ำเลียนแบบธรรมชาติ สับปะรดสีพันธุ์ Aechmea aculeatosepala ของร.ร.สุราษฎร์พิทยา จ. สุราษฎร์ธานี โครงการถ่านเศษไม้เหลาดินสอ ของร.ร.เซนต์โยเซฟทิพวัล จ.สมุทรปราการ และโครงการถุงเพาะชำ REUSE ของร.ร.คลองแดนวิทยา จ.สงขลา เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานในการสร้างนวัตกรรมเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่สร้างรายได้จากการสร้างนวัตกรรม เพื่อให้สอคล้องกับวิสัยทัศน์เชิงนโยบาย Thailand 4.0

        นอกจากนั้น สสวท.ได้ริเริ่มดำเนินโครงการสะเต็มศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพเชิงพาณิชย์สำหรับเยาวชนไทย (STEM Education for The Development of Youth Entrepreneurship หรือ E2STEM) เพื่อให้ความรู้พื้นฐานกับเยาวชนเกี่ยวกับทักษะการประกอบการ (entrepreneurship) และการบูรณาการกับสะเต็มศึกษา มีการจัดงานออกร้านเพื่อให้นักเรียนได้พบกับผู้บริโภค นอกจากนี้ยังมีการประกวดการบูรณาการสะเต็มศึกษา และแผนธุรกิจอีกด้วย

 

ที่มาของข่าว สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก