ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

นักศึกษา มรย. ร้องเพลงชาติไทยเป็นภาษามือ

วันที่ลงข่าว: 02/03/17

         “อัตลักษณ์การศึกษาพิเศษ” นักศึกษา สาขาการประถม คณะครุศาสตร์ มรย. ร้องเพลงชาติไทยเป็นภาษามือ เพื่อส่งเสริมให้เด็กนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ได้ใช้ภาษามือในการร้องเพลงชาติไทย

         ที่ห้อง 24-501 คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา นางสาวพุมพนิต คงแสง อาจารย์สาขาการประถมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ได้ฝึกสอนนักศึกษาสาขาการประถมศึกษา ชั้นปีที่ 4 ของ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ร้องเพลงชาติไทยเป็นภาษามือ เพื่อให้นักศึกษาที่กำลังจะจบการศึกษา ได้นำความรู้ที่ได้รับไปสอนเด็กนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ให้ได้ใช้ภาษามือในการร้องเพลงชาติไทยซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของชาติได้

นางสาวพุมพนิต คงแสง อาจารย์สาขาการประถมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา กล่าวว่า สำหรับสาขาการประถมศึกษา เปิดสอนในคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา เป็นปีที่ 4 มีนักศึกษาในระดับชั้นตั้งแต่ปีที่ 1-4 เป็นสาขาการสื่อสาร ซึ่งจะนำไปสอนเด็กได้ในระดับชั้น ป.1-ป.6 โดยทางคณะครุศาสตร์ฯ ได้เปิดเป็นสาขาพิเศษ ซึ่งจะมีอัตลักษณ์ คือ การศึกษาพิเศษ รายวิชาที่จะเรียน ก็จะเรียนเกี่ยวกับการศึกษาพิเศษเกือบทั้งหมด สอดคล้องกับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2551 ที่บอกว่าเด็กพิการคนใดที่อยากเรียนต้องได้เรียน ซึ่งเด็กพิการก็จะถูกส่งไปเรียนในโรงเรียนปกติ ซึ่งเป็นโรงเรียน เรียนร่วม เด็กพิการเหล่านี้จะเรียนตั้งแต่ชั้น ป.1-ป.6 ซึ่งคล้ายกับเป็นปัญหา เนื่องจากคุณครูในระดับประถมศึกษา ไม่สามารถสอนเด็กพิเศษได้ หลักสูตรการประถมศึกษา ก็เลยนำตรงนี้มาปรับปรุงหลักสูตร สอดแทรกเป็นอัตลักษณ์ของการศึกษาพิเศษ ซึ่งมีรายวิชา หลายรายวิชาที่สอดคล้องกับบริบทในท้องถิ่น เช่น เทคนิคการสอนเด็กออทิสติก เทคนิคการสอนเด็กบกพร่องทางการได้ยิน และภาษามือเบื้องต้น

         สำหรับครูประถมศึกษา นี้ ก็จะสอดคล้องกับอัตลักษณ์การศึกษาพิเศษ การใช้ภาษามือให้น้องๆ ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ได้มีการใช้ภาษามือในการร้องเพลงชาติไทย ร้องเพลงชาติไทยโดยใช้ภาษามือ ซึ่งเพลงชาติไทยเป็นอัตลักษณ์ของชาติ

         ปัจจุบัน มีนักศึกษาของสาขาการประถมศึกษา จำนวน 100 กว่าคน ที่เข้ามาเรียนในสาขานี้ โดยนักศึกษา ก็สามารถที่จะไปฝึกงาน ทำงาน ได้ที่โรงเรียน สพฐ. ปกติทั่วไป ถ้าในโรงเรียนนั้นมีเด็กพิเศษ เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินที่สามารถเรียนร่วมได้ น้องๆ ที่เรียนการประถมศึกษา ก็สามารถสอนได้

         สำหรับหลักสูตรการใช้ภาษามือเบื้องต้น จะบรรจุในชั้นปีที่ 4 ซึ่งจะเรียนการสอนเด็กออทิสติก การปรับพฤติกรรม รวมทั้งหมด เพื่อเป็นพื้นฐานให้กับนักศึกษา เมื่อจบไปเป็นครู ก็จะเป็นทั้ง 11 ประเภท

หลักสูตรภาษามือนี้ เป็นปีแรกที่นักศึกษาเรียน เป็นภาษามือเบื้องต้น ซึ่งจะทำให้ครูประถมศึกษาสามารถที่จะสื่อสารกับเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการถามชื่อ การพูดเป็นคำ เป็นประโยค ที่ผ่านมาทางหลักสูตร ก็ได้นำนักศึกษาทั้ง 30 กว่าคน ไปลงกับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินจริงๆ ที่โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทำให้นักศึกษาได้ฝึกประสบการณ์ ทดสอบการใช้ภาษามือ

         ขณะที่ นางสาวรัชชฎา ภาคภูมิเกียรติยศ และนางสาวฟาดิละห์ สาเหาะ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาประถมศึกษา คณะครุศาสตร์ มรย. กล่าวว่า จากการที่ได้เข้าเรียน ภาษามือ ก็ไม่ได้ยากเหมือนกับที่เราเคยเห็นมา เพราะอาจารย์ได้สอนคำที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งสามารถที่จะสื่อสารกับเด็กๆ ที่มีความบกร่องได้ การที่ได้มีโอกาสไปลงโรงเรียนโสตศึกษา ก็ได้เห็นความเป็นอยู่ การดำเนินชีวิต เห็นถึงความสามารถของเด็กที่มีความบกพร่อง ซึ่งเมื่อก่อนคิดว่าเด็กเหล่านี้ ไม่สามารถเรียนหนังสือได้ แต่เมื่อได้ไปดู ก็เห็นเด็กๆ สามารถเรียนหนังสือ อ่านหนังสือได้เหมือนกับเด็กปกติทั่วไป

ที่มาของข่าว สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก