ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ไทยจัดประชุมวิชาการนานาชาติแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศโดยเฉพาะระดับภูมิภาคอาเซียนสร้างเครือข่ายเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม

วันที่ลงข่าว: 02/03/17

        ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการด้านโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งชาติครั้งที่ 8 และการประชุมวิชาการนานาชาติด้านโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 1 ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรที่มีงานทำกว่า 38 ล้านคน ในจำนวนนี้ร้อยละ 55.6 หรือกว่า 21 ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบ ที่ไม่มีนายจ้าง ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ในปี 2559 พบว่ามีแรงงานนอกระบบในภาคเกษตรกรรมมากสุด ถึงร้อยละ 54.8 รองลงมาเป็นภาคการบริการ การค้า และภาคการผลิต ส่วนปัญหาจากความไม่ปลอดภัยในการทำงาน พบว่าแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ได้รับสารเคมีเป็นพิษมากที่สุด ร้อยละ 60.6 รองลงมาเป็นเครื่องจักร เครื่องมือที่เป็นอันตราย ร้อยละ 22. ซึ่งเป็นปัญหาอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการทำงาน และเป็นเรื่องสำคัญด้านสาธารณสุขของประเทศไทยที่ต้องเร่งแก้ไข หากประชากรในวัยทำงานเจ็บป่วยหรือมีปัญหาสุขภาพจนไม่สามารถทำงานได้จะส่งผลกระทบกับครอบครัวสังคมตลอดจนถึงประเทศชาติ ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะสมาชิกเครือข่ายการประเมินความเสี่ยงสารเคมี (Chemicals Risk Assessment) ขององค์การอนามัยโลก และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมถึงเป็นศูนย์ประสานงานขององค์การอนามัยโลก ด้านโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม จึงได้จัดประชุมวิชาการนี้ขึ้นภายใต้แนวคิดสานพลังขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม เพื่อก้าวที่มั่นคง สู่สังคมที่ยั่งยืน เพื่อเป็นเวทีสำหรับแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการ ประสบการณ์ ระหว่างผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ พร้อมสร้างเครือข่ายเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพ จากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น มีความยั่งยืน สอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล

ที่มาของข่าว สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก