ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ครม. รับผลการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2560 ของโครงการก่อสร้างถนนที่มีงบประมาณดำเนินโครงการรวมตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป

วันที่ลงข่าว: 01/03/17

        นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบเรื่องการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณสำหรับรายการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2560 ที่มีวงเงินรวมตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งมีทั้งหมด 4 โครงการ ประกอบด้วย การก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 12 สาย บ้านนาไคร้ - อำเภอคำชะอี แบ่งเป็น 2 ตอน ได้แก่ ตอนบ้านนาไคร้ - อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดกาฬสินธุ์ ระยะทาง 16.6 กิโลเมตร วงเงิน 1,196,294,000 บาท และตอนอำเภอหนองสูง - อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร ระยะทาง 19.708 กิโลเมตร วงเงิน 1,196,376,000 บาท การก่อสร้างถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา (ด้านเหนือ) ช่วงแยกทางหลวงหมายเลข 2 - บรรจบทางหลวงหมายเลข 2068 (ทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 2 กับทางหลวงหมายเลข 290) จังหวัดนครราชสีมา ระยะทาง 5.4 กิโลเมตร วงเงิน 1,394,800,000 บาท การก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 3 สายตราด - หายเล็ก ตอนทางแยกเข้าตำบลไม้รูด - บ้านคลองจาก จังหวัดตราด ระยะทาง 23.450 กิโลเมตร วงเงิน 985,471,490 บาท และการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 1421 สายเชียงราย - อำเภอขุนตาล ตอนบ้านหัวดอย - บ้านใหม่มงคล จังหวัดเชียงราย ระยะทาง 19 กิโลเมตร วงเงิน 1,088,088,000 บาท ทั้งนี้หากดำเนินโครงการแล้วเสร็จจะช่วยอำนวยความสะดวกเชื่อมต่อและครอบคลุมการเดินทางให้กับประชาชน
       นอกจากนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรียังได้รับทราบยุทธศาสตร์การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในภาคขนส่งสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ บรรจุเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2560-2564) และแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545-2564) ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการขับเคลื่อนแผนงานดังกล่าวครอบคลุมการพัฒนา 4 ด้าน ได้แก่ ด้านนโยบายและกฎหมายเกี่ยวกับการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกและการให้บริการคนพิการและผู้สูงอายุ ด้านการปรับปรุงโครงสร้างทางกายภาพ สิ่งอำนวยความสะดวก และยานพาหนะสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุให้เป็นไปตามข้อกฎหมายและหลักการออกแบบเพื่อคนทุกคน (Universal Design) และ Service Design ด้านการฝึกอบรมบุคลากร และด้านการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้อำนวยความสะดวกแก่คนพิการและผู้สูงอายุ ทั้งนี้ปัจจุบันได้จัดทำต้นแบบการปรับปรุงและพัฒนาสิ่งอำนวยความสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุในสถานที่ให้บริการภาคขนส่ง 5 แห่ง ได้แก่ ป้ายหยุดรถโดยสารประจำทางบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (ถนนบรมราชชนนี) ท่าเรือพระนั่งเกล้า สถานีรถไฟความเร็วสูงนครปฐมและท่าอากาศยานดอนืเมอง พร้อมคู่มือการให้ความช่วยเหลือคนพิการแต่ละประเภทและผู้สูงอายุ และคู่มือแปลภาษา หรือป้ายสัญลักษณ์ภาษาสำหรับหน่วยงานที่ให้บริการภาคขนส่ง

ที่มาของข่าว สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก