ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

“พยุงศิลป์ เปศรี” ครูจิตอาสาสอนตัดเย็บเครื่องหนัง เพิ่มทักษะอาชีพเด็กพิการ

วันที่ลงข่าว: 28/02/17
อ.พยุงศิลป์ เปศรี อาจารย์ประจำสาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 
 
โรงเรียนศรีสังวาลย์ เป็นโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนให้แก่นักเรียนที่มีความบกพร่องทางกายและการเคลื่อนไหว โดยมีการจัดหลักสูตรทางเลือกที่เน้นด้านศิลปะและทักษะอาชีพ ซึ่งในส่วนของโรงเรียนศรีสังวาลย์ จ.ขอนแก่น ยังขาดครูผู้สอนงานสิลปะตัดเย็บเครื่องหนัง “พยุงศิลป์ เปศรี” อาจารย์ประจำสาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงขอเข้ามาช่วยเติมเต็ม
       
       นายพยุงศิลป์ เปิดเผยว่า ตนได้รับเกียรติเป็นอาจารย์พิเศษให้กับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางกายและการเคลื่อนไหวที่โรงเรียนศรีสังวาลย์ จังหวัดขอนแก่น โดยได้นำความรู้ด้านการตัดเย็บเครื่องหนัง อันเป็นทักษะวิชาชีพที่อาจารย์ได้ฝึกฝนด้วยตนเอง ไปเป็นครูจิตอาสาเป็นหลักสูตรเสริมเพื่อเป็นทางเลือกในการพัฒนาสู่อาชีพเลี้ยงตนเองของนักเรียน เนื่องจากงานศิลปะตัดเย็บเครื่องหนังยังขาดครูผู้สอน โดยได้จัดเตรียมรูปแบบขั้นตอนและวิธีการซึ่งเหมาะกับความสามารถของเด็ก เน้นที่การสร้างผลงานให้เกิดความภาคภูมิในความสามารถของตนเองเป็นสำคัญ
       
       “จากหลักการที่ว่าศิลปะคือเครื่องมือพัฒนาความคิดของมนุษย์ แต่เมื่อเรานำงานศิลปะมาให้กับเด็กที่มีความบกพร่องทางกายเหล่านี้แล้ว ศิลปะยังได้ทำหน้าที่ดึงเอาความรู้สึกลึกๆ ของเด็กออกมาเป็นผลงาน ซึ่งผมเคยเห็นงานปั้นที่มีรูปทรงแปลกๆ มีความเป็นอิสระที่อาจเป็นพระพุทธรูปที่บิดเบี้ยวไม่สมส่วน สิ่งเหล่านี้มันคือการขับเคลื่อนระบายออกสิ่งที่อยู่ในใจต่อสิ่งที่เขาเป็นออกมา ซึ่งครูศิลปะที่แท้จริงจะเข้าใจและมีกระบวนการสานต่อความคิดของเขา” นายพยุงศิลป์ กล่าว
       
       นายพยุงศิลป์ กล่าวว่า สำหรับงานศิลปะเครื่องหนังก็เช่นกัน ตนเห็นความพยายามเอาชนะอุปสรรคของเด็กๆ ที่ไม่อาจใช้มือได้อย่างคนทั่วไป เขาก็จะพยายามที่จะใช้มือข้างเดียวด้วยความเพียร และเริ่มที่จะหันเข้าหากันช่วยกันตอกช่วยกันเย็บคนละมือจนสร้างผลงานได้สำเร็จ ความภาคภูมิใจที่สะท้อนผ่านแววตา คือ รางวัลที่ผมได้รับ และเชื่อว่าจะเป็นทางเลือกในอนาคตของเด็กที่สนใจและนำไปต่อยอดพัฒนาตนเอง
       
       “ผมก็คิดเช่นเดียวกับครูศิลปะทุกคนที่มาสอนเด็กคือการให้โอกาส เมื่อเราเกิดมาเป็นครู เราต้องทำหน้าที่ครูไปตลอดชีวิต ไม่ว่าจะทางใดทางหนึ่ง เพื่อให้ผู้รับความรู้ไปใช้เป็นเครื่องมือสร้างอนาคตของตนเองเหมือนกับที่เราได้โอกาสมาจากครูของเรา สำหรับในกรณีเด็กที่บกพร่องเหล่านี้เขามีพลังขับเคลื่อนที่จะยืนหยัดในสังคม ซึ่งต้องการผู้ให้การประคับประคอง เมื่อเรามีโอกาสก็พร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งและตั้งใจว่าในช่วงปีสุดท้ายก่อนการเกษียณอายุราชการก็จะทำต่อเนื่องไป นอกจากนี้ ตั้งใจที่จะจัดหาอุปกรณ์การทำเครื่องหนังไปเสริมให้กับโรงเรียนเพิ่มเติมอีกด้วย” นายพยุงศิลป์ กล่าว
       
       โรงเรียนศรีสังวาลย์ขอนแก่น สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกาย หรือการเคลื่อนไหว หรือสุขภาพ ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ประเภทอยู่ประจำและไปกลับ นักเรียนส่วนใหญ่มาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศที่ไม่สามารถเข้าเรียนร่วมในโรงเรียนปกติได้ จำนวน 209 คน ปัจจุบันมี นายอุทัย เพชรอยู่ เป็นผู้อำนวยการ นอกจากการจัดโครงการหลักสูตรภาคปกติแล้ว ยังมีโครงการเสริมด้านศิลปะและอาชีพโดยได้เชิญวิทยากร ปราชญ์ชาวบ้าน อาจารย์ผู้สอน และผู้ที่มีทักษะประสบการณ์มาเพิ่มพูนประสบการณ์อย่างต่อเนื่อง 
พยุงศิลป์ เปศรีนำความรู้ด้านการตัดเย็บเครื่องหนัง สอนนักเรียน


ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก