ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

เลขาฯ กศน. มองสังคมเปลี่ยน เน้นจัดการศึกษาภาคประชาชน เก็บตก กศ.พื้นฐานขาลง

วันที่ลงข่าว: 28/02/17

        นายกฤตชัย อรุณรัตน์ เลขาธิการ กศน. เปิดเผยในการประชุมผู้บริหารกลุ่ม/ศูนย์ส่วนกลางของสำนักงาน กศน. ว่า จากนโยบายของนายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และพลเอก สุรเชษฐ์ ไชยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องการให้ กศน.ดึงหน่วยงานภายนอกที่มีศักยภาพสูงเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา โดยมี กศน.ทำหน้าที่กำกับดูแล ยกระดับการจัดการศึกษาในรูปแบบเดิมๆ ให้เป็นสากล และ Smart ยิ่งขึ้น โดยเน้นส่งเสริมให้ประชาชนมีการเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน หรือ IT Literacy เพื่อการมองเห็นโอกาสและช่องทางในการขยายอาชีพ และรู้เท่าทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง การนำคูปองการศึกษามาเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการศึกษา การทำงานร่วมกับเครือข่ายมืออาชีพ การจัดการศึกษาที่เชื่อมโยงศาสตร์พระราชากับชีวิตประจำวัน รวมถึงการให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพการศึกษาของกลุ่มเป้าหมายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เหล่านี้เป็นโจทย์ที่ กศน.ต้องนำมาวิเคราะห์กับภารกิจหลักเพื่อดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าวข้างต้น ต่อยอดให้เกิดเห็นเป็นรูปธรรม โดยนำองค์ความรู้เก่ามาเติมเต็ม และพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

        ในส่วนของกรอบยุทธศาสตร์จุดเน้นการดำเนินงานของ กศน.ปี 2560 ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่งเสริมสนับสนุนและประสานงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจากการประชุมที่ผ่านมา สำนักงาน กศน.มีนโยบายจะดำเนินการต่อตามแผนที่วางไว้ โดยมีการปรับเปลี่ยนในรายละเอียดบางประเด็นตามมติของที่ประชุมด้งกล่าว ได้แก่ การตรวจเลือดครู แผนการเรียนรู้รายบุคคล หลักการในการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เพราะการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมไทยในปัจจุบัน ที่เป็นครอบครัวเดี่ยวมากกว่าครอบครัวขยาย อัตราการเกิดของเด็กมีแนวโน้มต่ำลง การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานจึงมีลักษณะนิ่งอยู่กับที่ ในขณะที่การศึกษาภาคประชาชนกำลังอยู่ในกระแสของความต้องการ ด้วยสถานการณ์ผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอดเวลา แนวโน้มการจัดกิจกรรมการศึกษาของ กศน.จึงต้องเป็นไปในมิติของการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ดูแลกิจกรรมในเชิงผู้สูงอายุให้มากยิ่งขึ้น

        นายกฤตชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการทำงานในวันนี้ ในฐานะที่เป็นนักการศึกษาผู้ใหญ่ และนักการศึกษานอกระบบ จำเป็นต้อง “คืนสู่สามัญ” ซึ่งหมายถึงการใช้ชุมชนเป็นฐาน ใช้ภูมิปัญญาเป็นผู้ถ่ายทอด และใช้บริบททางสังคมเป็นตัวกำหนดกรอบของวิธีการทำงาน ซึ่งแน่นอนว่าในแต่ละที่ย่อมมีความแตกต่างกันไป แนวคิดต่างๆ จึงเป็นเพียงโจทย์ในการนำไปสู่การออกแบบกิจกรรม ไม่ใช่รูปแบบสำเร็จรูปตายตัวที่ใช้ด้วยกันได้หมด ต้องดูบริบทและความต้องการ ของกลุ่มเป้าหมายเป็นสำคัญ ดังนั้น มองว่าการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่ใช่งานหลักอีกต่อไป จากนี้ไปในเรื่องการศึกษาขั้นพื้นฐาน กศน.จะทำหน้าที่ผู้เก็บตกเท่านั้น เพราะเป้าหมายสำคัญในการจัดและส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยขณะนี้ คือ การศึกษาภาคประชาชน ทั้งนี้ หลักของการจัดการศึกษาผู้ใหญ่ หรือการศึกษานอกโรงเรียน นอกจากเราจะมีเป้าหมายที่ปลายทางแล้ว ความสุขระหว่างทางยังเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน กลุ่มเป้าหมาย 16 กลุ่มยังเป็นสิ่งที่ กศน.ต้องรับผิดชอบดูแล ทั้งกลุ่มผู้ไม่รู้หนังสือ ชาวเขา ชาวเล ผู้พิการ เด็กเร่ร่อน ผู้สูงอายุ และอื่นๆ และตอนนี้สิ่งเราต้องให้ความสำคัญอีกกลุ่มหนึ่ง คือกลุ่ม “ ผู้ลืมหนังสือ” ที่ กศน.ต้องออกแบบกิจกรรมสำหรับกลุ่มเป้าหมายนี้เพิ่มเติม โดยอาจนำแนวคิดจากพัฒนาการในการจัดการศึกษาผู้ใหญ่ในอดีตที่ประสบความสำเร็จในแต่ละยุคมาถอดบทเรียน ซึ่งไม่มีอะไรที่ล้าสมัย นำบทเรียนจากอดีตมาประยุกต์และพัฒนา ให้เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งจากประสบการณ์ของการเป็นนักศึกษาผู้ใหญ่มาตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี มีความคาดหวังว่า การจัดการศึกษาของ กศน.จะเป็นการจัดการศึกษาที่ทำให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

ที่มาของข่าว สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก