ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

โลกสดใสกายสุขสันต์: สร้างทายาทคุณภาพให้วงศ์ตระกูล เรื่องง่ายๆ เพียงแค่ มีความใส่ใจ

วันที่ลงข่าว: 17/02/17

       มีสถิติจากองค์การอนามัยโลก ระบุให้ทราบว่า ทุกๆ ปีบนโลกใบนี้จะมีเด็กที่เกิดมาพิการ ประมาณ 30,000 คน และ มีแนวโน้มว่าจะเป็นตัวเลขที่ สะสมต่อไปเรื่อยๆ ทุกปี ซึ่งเป็นเรื่องที่ ประชากรบนโลกใบนี้ต้องตระหนักและให้ความสำคัญในการ หาทางป้องกันแก้ไข

 

เมื่อวันแห่งความรักที่เพิ่งจะผ่านเลยไป สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ได้ร่วมกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย สมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิดประเทศไทย กรุงเทพมหานคร และกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดกิจกรรม เปิดเผยให้ หนุ่ม-สาวที่จะมีบุตร ได้รับทราบถึงการป้องกันมิให้ลูกที่เกิดมาต้องกลายเป็นเด็กพิการแต่กำเนิด

 

      ภายในงาน ศ.เกียรติคุณ พญ.พรสวรรค์ วสันต์ หัวหน้าโครงการระดับชาติพัฒนาต้นแบบจังหวัดและอำเภอเพื่อป้องกันและดูแลรักษาความพิการแต่กำเนิดในประเทศไทย สสส.และนายกสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด กล่าวว่า การป้องกันเด็กพิการแต่กำเนิดสามารถทำได้ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้ปรับนิสัยการรับประทานอาหารโดยรับผักใบเขียวที่มีโฟเลตสูงให้ได้อย่างน้อย 0.4 มิลลิกรัมต่อวัน หรือกินวิตามินโฟลิกในรูปแบบเม็ด โดยหญิงวัยเจริญพันธุ์ควรทานสัปดาห์ละ 1 เม็ด ส่วนหญิงที่ต้องการจะมีลูกต้องกินก่อนตั้งท้อง 3 เดือน ต่อเนื่องจนถึง 3 เดือนแรกของการตั้งท้องซึ่งจะช่วยป้องกันความเสี่ยงจากความพิการ ได้แก่ หลอดประสาทไม่ปิด ปากแหว่งเพดานโหว่ ความผิดปกติของแขนขา หัวใจพิการแต่กำเนิด ระบบทางเดินปัสสาวะผิดปกติ ไม่มีรูทวารหนัก และกลุ่มอาการดาวน์

 

       ศ.เกียรติคุณ พญ.พรสวรรค์ ย้ำว่ายังมีความเข้าใจที่ผิดว่าเมื่อตั้งครรภ์ถึงจะรับประทานวิตามินโฟลิกแต่ในความเป็นจริงแล้วต้องกินก่อนท้อง เพราะวิตามินโฟลิกช่วยการสร้างและแบ่งเซลล์ในตัวอ่อนให้สมบูรณ์ตั้งแต่หลังปฏิสนธิภายใน 28 วันจึงต้องกินก่อนท้อง ซึ่งวิตามินนี้ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปราคาเม็ดละไม่เกิน 1 บาท ขนาด 5 มิลลิกรัม และขณะนี้มี 85 ประเทศทั่วโลกที่เห็นความสำคัญของการป้องกันเด็กพิการแต่กำเนิดจึงผสมโฟลิกในอาหารและออกเป็นกฎหมายแล้ว

 

       ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันอายุของคู่สมรสที่มาจดทะเบียนมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเจนวาย ที่เกิดระหว่างปี 2525-2548 ที่ผู้ชายแต่งงานอายุเฉลี่ย 29 ปี ส่วนผู้หญิงอยู่ที่อายุ 28 ปี ซึ่งการแต่งงานช้าลงและการมีบุตรในอายุมากขึ้น ทำให้เพิ่มโอกาสความเสี่ยงทางสุขภาพ โดยเฉพาะหากมีลูกอายุ 35 ปีขึ้นไป จะเสี่ยงต่ออาการดาวน์ 2-3 เท่า นอกจากนี้ยังพบแนวโน้มของคู่ที่มาจดทะเบียนสมรสมีอายุมากขึ้นและอัตราการมีลูกลดลง โดยเฉลี่ยไม่ถึง 2 คน โจทย์สำคัญที่ตามมาคือทำอย่างไรจะได้ประชากรที่เกิดน้อยมีคุณภาพ โดยเฉพาะการลดความเสี่ยงจากความพิการแต่กำเนิดจะช่วยประหยัดรายจ่ายของประเทศถึง 1,000 ล้านบาทต่อปี

 

       สำหรับการทำงานของ สสส. เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้จัดการ สสส. กล่าวให้ทราบว่า สสส.จะเน้นการป้องกันก่อนรักษา โดยการจัดทำชุดความรู้และพัฒนาให้เกิดพื้นที่ต้นแบบ 22 จังหวัดโดยหน่วยบริการสุขภาพได้ให้ความรู้เรื่องการป้องกันความพิการแต่กำเนิดด้วยวิตามินโฟลิกแก่หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่มารับบริการสุขภาพและให้ความรู้ในสถานศึกษา พร้อมกับทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในการส่งเสริมการกินอาหารและผักใบเขียวที่มีโฟแลตสูง ตลอดจนความร่วมมือจากกรมการปกครองและกรุงเทพมหานครที่เล็งเห็นความสำคัญของกลุ่มเป้าหมายคือหญิงที่มาจดทะเบียนสมรสที่ต้องการจะมีบุตรเพื่อป้องกันความพิการแต่กำเนิดตั้งแต่ต้นทาง

 

       นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองอธิบดีกรมการปกครอง กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยให้ความร่วมมือกับสสส. และสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด โดยจะใช้โอกาสแนะนำคู่รักที่มาจดทะเบียนสมรสที่ว่าการอำเภอหรือที่ว่าการเขตกทม. ซึ่งในแต่ละปีมีคู่สมรสมาจดทะเบียนประมาณ 307,746 คู่ และในกทม.มีจำนวน 3,400 กว่าคู่ ให้ได้รับความรู้ในเรื่องของ วิตามินโฟลิกแก่คู่สมรสที่ต้องการจะมีบุตรอย่างละเอียดตามหลักการของ องค์การอนามัยโลก

 

       “หากคิดตามปริมาณโฟลิกที่สมาคมแนะนำให้หญิงที่ต้องการจะมีบุตรรับประทานคือ วันละเม็ด ตั้งแต่ก่อนตั้งท้อง 3 เดือน ต่อเนื่องจนถึง 3 เดือนแรกของการตั้งท้อง เท่ากับ 180 วัน ซึ่งเฉลี่ยราคาเม็ดละ 1 บาท เท่ากับเราจ่ายเงินเพื่อป้องกันความพิการเพียง 180 บาทเท่านั้น เพื่อให้ได้เด็กที่มีคุณภาพ หรือประชาชนคนใดที่ไม่มีเงินก็สามารถติดต่อได้ที่โรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน เพราะโรงพยาบาลจะจ่ายยาเหล่านี้ฟรี จึงเป็นประโยชน์อย่างมาก” รองอธิบดีกรมการปกครอง กล่าวทิ้งท้ายให้เหล่าบรรดาผู้ที่จะเป็นพ่อ-แม่ในอนาคตทราบ

 

นับว่าไม่ใช่เรื่องยาก หรือ ต้องใช้เงินลงทุนมากนัก ต่อการที่จะทำให้ลูกที่จะเกิดขึ้นเป็นเด็กที่มีคุณภาพ เพื่อเป็นดวงใจของพ่อและต่อไปในอนาคต

 

โดย ปานมณี

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์แนวหน้าออนไลน์ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2560
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก