ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

เมกเกอร์แสดงฝีมือ ประดิษฐ์นวัตกรรมเพื่อผู้สูงวัย

วันที่ลงข่าว: 17/02/17

        บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดโครงการ "Enjoy Science: Young Makers Contest" การประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับ 'เมกเกอร์' หรือนักสร้างสรรค์นวัตกรรม ในระดับนักเรียน-นักศึกษาสายสามัญและอาชีวศึกษา ในหัวข้อ "นวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุและผู้พิการ" โดยประกาศผลผู้ได้รับรางวัล ณ งาน Bangkok Mini Maker Faire ปี 2

 

        โดยผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในระดับนักเรียน-นักศึกษาสายอาชีพ ได้แก่ผลงาน "ไม้เท้าแจ้งเตือนการล้มสำหรับผู้สูงอายุ" โดยนักศึกษาจากวิทยาลัยสารพัดช่างสงขลา ขณะที่ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศสายสามัญ ได้แก่ผลงาน "ระบบเฝ้าระวังผู้สูงอายุโดยใช้กล้องตรวจจับการเคลื่อนไหวแบบ 3 มิติ ตรวจจับการล้มพร้อมแจ้งเตือน" โดยนักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งนักศึกษาเจ้าของผลงานชนะเลิศแต่ละประเภท ได้รับทุนการศึกษาและทริปร่วมงาน Maker Faire UK มหกรรมแสดงผลงานของเมกเกอร์ที่สหราชอาณาจักร รวมมูลค่ารางวัลละกว่า 400,000 บาท

 

        นางสาวกุลนิดา มานะชำนิ และนางสาวรุจิภา ภูมิ นักศึกษาวิทยาลัยสารพัดช่างสงขลา ผู้ชนะเลิศในสาขาอาชีวศึกษา กล่าวว่า ผลงาน 'ไม้เท้าแจ้งเตือนการล้มสำหรับผู้สูงอายุ' ได้รับแรงบันดาลใจในการประดิษฐ์มาจากคุณยาย เพราะกลัวว่าคุณยายจะลื่นล้มเมื่อไม่มีใครอยู่บ้าน จึงนำวิชาที่เรียนในวิทยาลัยคือไมโครคอนโทรลเลอร์ มาประยุกต์ใช้ในการประดิษฐ์ผลงานชิ้นนี้ โดยออกแบบให้ไม้เท้าสามารถแจ้งเตือนไปยังโทรศัพท์มือถือของลูกหลานได้ทันที หากผู้สูงอายุล้มขณะใช้ไม้เท้า ในอนาคตพวกหวังว่าจะพัฒนาต่อยอดให้ไม้เท้ามีระบบ GPS เพื่อบอกพิกัดตำแหน่งของผู้ที่ลื่นล้มได้

 

        นายรัชพล แขมภูเขียว และนายสุธีบูรณ์ ชูวิทยา นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังผู้ชนะเลิศสายสามัญ กล่าวว่า "ผลงาน 'ระบบเฝ้าระวังผู้สูงอายุโดยใช้กล้องตรวจจับการเคลื่อนไหวแบบ 3 มิติ' ออกแบบให้ทำงานโดยใช้แสงอินฟราเรด จึงไม่ต้องติดตั้งอุปกรณ์กับผู้สูงอายุ และสามารถใช้ได้ทั้งกลางวันและกลางคืน โดยกล้องจะตรวจจับการเคลื่อนไหวของผู้สูงอายุ ทั้งยังสามารถแยกได้ว่าผู้สูงอายุล้มจริงหรือแค่ก้มเก็บของ หากผู้สูงอายุล้มตัวลงไซเรนก็จะร้อง และถ้าผู้สูงอายุไม่มากดหยุด ระบบก็จะส่งข้อความไปยังญาติหรือโรงพยาบาลที่ระบุไว้นอกจากนั้น ยังเขียนโปรแกรมให้กล้องบันทึกการเคลื่อนไหวของผู้สูงอายุ และแปรผลเป็นภาพโครงกระดูกแบบสามมิติจึงช่วยให้การวินิจฉัยของแพทย์ทำได้เร็วขึ้นและรักษาได้อย่างทันท่วงที เพราะสามารถดูจากวิดีโอได้ว่าผู้ป่วยได้รับการกระทบกระเทือนในส่วนไหนบ้าง"

 

        สำหรับผลงานอื่น ๆ ที่ได้รับรางวัลจากโครงการ Young Makers Contest ในครั้งนี้ อาทิ ผลงาน 'อุปกรณ์ช่วยเดิน (walker) สำหรับช่วยลุกยืนของผู้สูงอายุและผู้พิการ' โดยเยาวชนจากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ซึ่งได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ในระดับนักเรียน-นักศึกษาอาชีวศึกษา ที่ช่วยให้การลุกยืนของผู้สูงอายุและผู้พิการทำได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น ซึ่งใช้เวลาในการสร้างสรรค์กว่า 6 เดือน รวมถึงการนำไปให้ผู้ป่วยในโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีได้ทดลองใช้ และนำคำแนะนำที่ได้รับมาพัฒนาผลงานให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และผลงาน 'หุ่นเคลื่อนที่ดูแลผู้สูงอายุช่วยประคองเดิน' โดยนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซึ่งได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ในระดับนักเรียน-นักศึกษาสายสามัญ ซึ่งเป็นผลงานที่มีเป้าหมายเพื่อช่วยลดการเจ็บเวลาเดิน โดยหุ่นนี้สามารถช่วยประคองผู้สูงอายุในการเดินเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น ทั้งยังสามารถช่วยประคองขาผู้สูงอายุในการทำกายภาพบำบัดได้อีกด้วย โดยทั้งสองผลงานจะได้รับทุนการศึกษาและทริปร่วมงานแสดงผลงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี Nano Tech Japan ที่ประเทศญี่ปุ่น

 

        คุณอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า "การประกวด Young Makers Contest เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมภายใต้โครงการ 'Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต' ซึ่งเป็นโครงการระยะยาว 5 ปี ที่มุ่งส่งเสริมความสนใจในการศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือ สะเต็ม ทั้งในระบบการศึกษาสายสามัญและสายอาชีพ ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ผลงานหลายๆ ชิ้น มีทั้งความคิดสร้างสรรค์และประโยชน์ในการใช้งานที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและผู้พิการให้สามารถดำเนินชีวิตได้ทัดเทียมกับคนปกติมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าเยาวชนไทยมีศักยภาพในการเป็นนักสร้างสรรค์นวัตกรรม หรือ เมกเกอร์ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการเตรียมความพร้อมสู่ยุคประเทศไทย 4.0 ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ในการนำพาประเทศไปสู่สังคมเศรษฐกิจแบบใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม" 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์บ้านเมืองออนไลน์ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก