ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เห็นชอบรายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง การจัดสภาพแวดล้อมสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้

วันที่ลงข่าว: 14/02/17

      การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. วันนี้(10 ก.พ.) เป็นการพิจารณารายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง การจัดสภาพแวดล้อมสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ (AAA) (อ่านว่า สาม-เอ) ซึ่งคณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาสพิจารณาเสร็จแล้ว โดยนายมณเฑียร บุญตัน ประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการคนพิการ กล่าวว่า การจัดสภาพแวดล้อมสาธารณะเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้เป็นสิ่งที่สำคัญต่อการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกคน โดยทุกคนจะต้องเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียมเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมสูงอายุในอนาคต ทั้งนี้กรรมาธิการฯ ได้มีข้อเสนอแนะบางประการเกี่ยวกับการจัดสภาพแวดล้อมสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ เช่น รัฐควรกำหนดประเด็นการเข้าถึง ( Accessibiliy) ให้เป็นวาระแห่งชาติ รัฐควรจัดให้มีกฎหมายการจัดสภาพแวดล้อมสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้และควรกำหนดมาตรการ ตรวจสอบ ติดตาม ส่งเสริมและสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงควรส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้เรื่องการจัดสภาพแวดล้อมสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ พร้อมการรณรงค์เผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ และสร้างจิตสำนึก ในประเด็นการเข้าถึงให้กับทุกภาคส่วน

      จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณารายงานการพิจารณาศึกษาระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยการกำหนดคดี หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น พ.ศ.2560 และระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการปรับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มิได้ปฏิบัติตามคำบังคับของศาลปกครองให้ถูกต้องครบถ้วนหรือปฏิบัติล่าช้าเกินสมควร พ.ศ. 2560 ที่คณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาศึกษาระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดฯ พิจารณาเสร็จแล้ว โดยเป็นการเพิ่มเติมเนื้อหาไว้ในระเบียบ เพื่อเป็นแนวทางว่า “ในการที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งให้ปฏิบัติตามคำบังคับของศาลปกครองชั้นต้น ในคำนึงถึงปัญหาอุปสรรคที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลังและปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณประกอบด้วย”

ที่มาของข่าว สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก