ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

JICA ให้การสนับสนุนศูนย์ CITC พัฒนาศักยภาพบุคลากรในไทยและอาเซียนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

วันที่ลงข่าว: 08/02/17

      ญี่ปุ่นและไทย ให้ความสำคัญด้านการพัฒนาคน พัฒนาศักยภาพบุคลากร ในภาคส่วนต่างๆ ให้มีความรู้ ความเข้าใจด้านการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากวิกฤตการณ์โลกร้อนส่งผลให้ทุกประเทศต่างได้รับผลกระทบและเปิดรับความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สาเหตุดังกล่าวจึงเป็นแรงผลักดันทั้งในระดับโลก ระดับภูมิภาคอาเซียน และในระดับชาติ ได้มีนโยบายและข้อตกลงความร่วมมือในการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแสดงความรับผิดชอบในระดับที่แตกต่างกันตามแต่ศักยภาพและสภาพเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละประเทศ

ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2560 รัฐบาลญี่ปุ่นได้อนุมัติการสนับสนุนทางวิชาการ ผ่านทางองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency: JICA) ให้กับศูนย์วิชาการนานาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change International Technical and Training Center: CITC) ภายใต้องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำเนินการพัฒนาศักยภาพทั้งภาคส่วนไทยและอาเซียน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาหลักสูตรและฝึกอบรม ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปัญหาภาวะโลกร้อน ในด้านต่างๆ เป็นระยะเวลา 3 ปี อาทิ

การจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Inventory)

การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Management and Sustainable Development )

กลไกการลดก๊าซเรือนกระจก (Mitigation Mechanism)

การเงินและเศรษฐศาสตร์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance and Economics of Climate Change)

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมให้ครอบคลุมด้านอื่นๆ เช่น

การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Adaptation)

นโยบาย กฎ ระเบียบ และข้อบังคับเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Policy, Legislation and Regulations on Climate Change)

รวมทั้งมีการต่อยอดในการพัฒนาหลักสูตรเฉพาะทางให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น (คัดเลือกตามความเหมาะสม) อาทิ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภาคป่าไม้ (Climate Change and Forestry)

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและการเกษตร (Climate Change and Water Resources Management and Agriculture)

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการบริหารจัดการภัยภิบัติ (Climate Change and Disaster Management)

ผลที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการนี้จะนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพเจ้าหน้าที่ภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคการศึกษา รวมถึงสื่อมวลชน ให้มีความเข้าใจในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น รวมถึงการเกิดเครือขายและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างอาเซียน เพื่อสอดรับต่อวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งของประชาคมอาเซียนที่มุ่งเน้นให้เกิดการรวมตัวกันของประเทศสมาชิกเพื่อเรียนรู้และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียนในเวทีระหว่างประเทศในการรับมือกับปัญหาใหม่ๆ ระดับโลก โดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของภูมิภาค นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างบทบาทของไทยต่ออาเซียนในการเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และเป็นเวทีในการเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกลไกที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำและยั่งยืนอีกด้วย

ที่มาของข่าว สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก