ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

พม.ช่วยน้ำท่วมใต้ ติดตามช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย พร้อมจัดตั้งสถานที่พักพิงชั่วคราวช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

วันที่ลงข่าว: 10/01/17

      วันนี้ (9 ม.ค. 60) เวลา 07.30 น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ศปก.พม.) ครั้งที่ 548/2557-2560 เพื่อรับทราบปัญหาทางสังคมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และร่วมหาแนวทางการแก้ไขปัญหาและการป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยมีผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานในกระทรวงฯ เข้าร่วมประชุม

 

       พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่หลายจังหวัดในภาคใต้ ที่ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนและบ้านเรือนเสียหายเป็นจำนวนมากนั้น ตนมีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้แก่ กลุ่มเด็ก เยาวชน คนพิการ ผู้สูงอายุติดเตียงและผู้ประสบปัญหาทางสังคม โดยได้มอบหมายหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ได้แก่ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ (สสว.) บ้านพักเด็กและครอบครัว สถานสงเคราะห์ นิคมสร้างตนเอง และศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ บูรณาการร่วมกับทางจังหวัด ภาคีเครือข่าย และอาสาสมัครต่างๆ ในการช่วยเหลือดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจากอุทกภัยครั้งนี้ อย่างเร่งด่วนตามภารกิจของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ล่าสุดได้รับรายงานจากในพื้นที่ว่า เจ้าหน้าที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ได้ลงพื้นที่สำรวจประชาชนที่ได้รับผลกระทบเพื่อติดตามช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด โดยได้เยี่ยมเยียนให้กำลังใจผู้ประสบอุทกภัย พร้อมทั้งมอบถุงยังชีพ อาหาร เครื่องดื่ม อีกทั้งมอบเงินช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตเงินช่วยเหลือเด็กในครอบครัว และประสานส่งต่อขอรับการช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

       พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้ง ครัว พม. เพื่อประกอบอาหารช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ในพื้นที่แต่ละยังได้จัดตั้งเป็นสถานพักพิงชั่วคราวช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ได้แก่ 1) จังหวัดสงขลา รองรับประชาชนที่ประสบอุทกภัยได้จำนวน 260 คน ประกอบด้วย ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ12 ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคใต้ จังหวัดสงขลา บ้านพักเด็กและครอบครัว ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ 2) จังหวัดปัตตานี รองรับประชาชนที่ประสบอุทกภัยได้จำนวน 40 คน ประกอบด้วย นิคมสร้างตนเองโคกโพธิ์ บ้านพักเด็กและครอบครัว 3) จังหวัดยะลา รองรับประชาชนที่ประสบอุทกภัยได้จำนวน 155 คน ประกอบด้วย สถานสงเคราะห์เด็กยะลา บ้านพักเด็กและครอบครัว นิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้จังหวัดยะลา ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ 4) จังหวัดนราธิวาส รองรับประชาชนที่ประสบอุทกภัยได้จำนวน 110 คน ประกอบด้วย นิคมสร้างตนเองสุคิริน นิคมสร้างตนเองศรีสาคร บ้านพักเด็กและครอบครัว 5) จังหวัดสุราษฎร์ธานี รองรับประชาชนที่ประสบอุทกภัยได้จำนวน 30 คน ประกอบด้วย สถานพัฒนาและฟื้นฟูเด็ก บ้านพักเด็กและครอบครัว 6) จังหวัดพัทลุง รองรับประชาชนที่ประสบอุทกภัยได้จำนวน 50 คน ประกอบด้วย บ้านพักเด็กและครอบครัว นิคมสร้างตนเองควนขนุนศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 7) จังหวัดนครศรีธรรมราช รองรับประชาชนที่ประสบอุทกภัยได้จำนวน 80 คน ประกอบด้วย สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งบ้านสิชล ศูนย์พัฒนาอาชีพคนพิการ ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง สถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านศรีธรรมราช และ 8) จังหวัดตรัง รองรับประชาชนที่ประสบอุทกภัยได้จำนวน 60 คน ประกอบด้วยศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง และบ้านพักเด็กและครอบครัว

 

       พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากกรณีชายชราวัย 74 ปี มีอาชีพเก็บของเก่าขาย ต้องรับภาระเพียงลำพังเลี้ยงดูภรรยาแก่ชราวัย 60 ปี ที่ป่วยเป็นโรคนิ่ว และอัมพฤกษ์ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ทั้ง 2 ชีวิต อาศัยในบ้านสภาพเก่าทรุดโทรม ที่จังหวัดชลบุรีนั้น ตนได้กำชับให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดชลบุรี (พมจ.ชลบุรี) และหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ลงพื้นที่เยี่ยมเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้การช่วยเหลือตามภารกิจด้านผู้สูงอายุของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ พร้อมมอบสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น รวมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ช่วยเหลือดูแลในเรื่องการรักษาพยาบาลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง และกรณีเด็กหญิงวัย 14 ปี ที่ป่วยเป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง มีแผลพุพองคันทั่วลำตัว และลุกลามไปถึงดวงตา ทำให้มองเห็นไม่ชัด ไม่สามารถไปโรงเรียนได้มากว่า 8 เดือน ทั้งที่เป็นเด็กเรียนดีและได้ทุนการศึกษาเรียนฟรีจนจบปริญญาตรี อาศัยอยู่กับป้าเพียงลำพัง เนื่องจากพ่อและแม่แยกทางกัน ครอบครัวมีฐานะยากจน ที่จังหวัดชัยนาท นั้น ตนได้กำชับให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดชัยนาท (พมจ.ชัยนาท) และหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้การช่วยเหลือตามภารกิจด้านเด็กของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ พร้อมมอบสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น รวมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ช่วยเหลือดูแลในด้านต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการรักษาพยาบาลของเด็กหญิงดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเรื่องการศึกษาของเด็กหญิงในระยะยาวต่อไป

ที่มาของข่าว สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก