ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เชื่อ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน…พ.ศ…เรื่องกำหนดอายุเกษียณเป็น 60 ปี และต้องได้รับค่าชดเชย เป็นประโยชน์กับลูกจ้างในสถานประกอบการขนาดเล็ก

วันที่ลงข่าว: 05/01/17

     นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวถึงมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบแก้ไขร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน…พ.ศ… ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยมีสาระสำคัญ เช่น กำหนดอายุเกษียณจาก 55 ปี เป็น 60 ปี รวมทั้งกำหนดให้การเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้าง และต้องได้รับเงินค่าชดเชยตามอายุงาน ว่าการกำหนดอายุเกษียณนี้ เพื่อให้ครอบคลุมสถานประกอบการขนาดเล็กที่ไม่มีการกำหนดไว้ในสัญญาจ้างงาน คาดว่ามีกว่า 93,000 แห่ง ลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกว่า 650,000 คน พร้อมเชื่อว่า ผู้ที่อายุ 60 ปี และยังทำงานในสถานประกอบการกว่าร้อยละ 95 มีอายุงานมากกว่า 10 ปีแน่นอน อย่างไรก็ตามหากมีการเลิกจ้างก่อนอายุ 60 ปี ลูกจ้างจะยังได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย หากไม่มีการกระทำความผิด

นายสุเมธ กล่าวอีกว่า ส่วนการกำหนดให้คณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำกำหนดค่าจ้างครอบคลุมลูกจ้างทั้งนักเรียน นิสิต คนพิการ ผู้สูงอายุ เพื่อให้การกำหนดค่าจ้าง สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและครอบคลุมลูกจ้างในระบบการจ้างงานทุกประเภท เช่น อัตราค่าจ้างของผู้สูงอายุ ที่ทำงานได้จำกัด ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความเป็นจริง ยกเว้น คนทำงานบ้าน แรงงานนอกระบบ ทั้งนี้ เมื่อผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะต้องส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเนื้อหา จากนั้นค่อยส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา เพื่อให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว สำหรับอัตราค่าชดเชยตามอายุงาน คือ อายุงานมากกว่า 10 ปี ได้รับการชดเชย 10 เดือน หรือ 300 วัน /หากทำงาน 6 ปีแต่ไม่ถึง 10 ปี ได้รับการชดเชย 8 เดือน /อายุงาน 3 ปีแต่ไม่ครบ 6 ปี จะได้รับค่าชดเชย 6 เดือน /ทำงาน 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จะได้ค่าชดเชย 3 เดือน /ทำงาน 120 วัน แต่ไม่ถึง 1 ปี ได้รับค่าชดเชย 1 เดือน หากไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษทั้งทางแพ่งและอาญา ทางแพ่งโทษปรับสูงสุดตามค่าชดเชยที่ค้างรวมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี หรือคิดเงินเพิ่มร้อยละ 15 ตามยอดเงินผิดนัดชำระ 7 วัน สำหรับโทษทางอาญาจำคุกสูงสุด 6 เดือน หรือทั้งจำและปรับไม่เกิน 100,000 บาท

ที่มาของข่าว สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก