ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ศิลปะเพื่อสังคมในรูปแบบครูศิลปะ อารี สุทธิพันธ์

วันที่ลงข่าว: 05/01/17
ศิลปะเพื่อสังคมในรูปแบบครูศิลปะ อารี สุทธิพันธ์
 
คนส่วนใหญ่มักคิดว่า “ครูศิลปะ” เป็นครูที่ไม่ค่อยมีบทบาทนักในสังคมเมื่อเทียบกับครูศาสตร์อื่นๆ เพราะในอดีตศิลปิน จิตรกร มักถูกตีตราว่าเป็น “ศิลปินไส้แห้ง” ทว่าความรู้และความเข้าใจที่หยั่งรากลึกลงในความมุ่งมั่นของการถ่ายทอดวิชาการด้านศิลปะของศาสตราจารย์พิเศษ อารี สุทธิพันธุ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี 2555 ตลอดทั้งชีวิตของการเป็นครูสอนศิลปะนั้น ได้ช่วยเปลี่ยนมุมมองคติความเชื่อเก่าๆ เกี่ยวกับวิชาการด้านศิลปะและผู้ที่เป็นศิลปิน ก็ด้วยความเป็นครูศิลปะที่คิดนอกแบบ คัดค้านการเรียนการสอนศิลปะด้วยการเลียนแบบ กระทั่งได้ชื่อว่าเป็นคนต้นแบบของการสอนและสร้างสรรค์ศิลปะไปปรับใช้ในชีวิตจริง ในความเป็น “ครูศิลปะที่ทำงานศิลปะเพื่อสังคม” มานานถึง 46 ปี
 
มูลนิธิอารี สุทธิพันธุ์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) จัดให้มีกิจกรรม workshop เนื่องใน “วันครูศิลปะอารี สุทธิพันธุ์” โดยการเสวนาเรื่อง “สอนศิลปะอย่างไรให้เด็กเกิดสุนทรียภาพ” จัดประกวดภาพวาดเหมือนจริงในหัวข้อแสดงความไว้อาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 จากนักเรียนใน 36 พื้นที่ทั่วกรุงเทพมหานครและชุมชนจากต่างจังหวัด ตามแนวคิดของครูอารีที่เชื่อว่า เด็กคือผู้มีจินตนาการและจินตนาการเป็นจุดเริ่มต้นการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ที่ดีได้ในสังคม ศิลปะนั้นต้องมีไว้เพื่อสังคม ศิลปินควรต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อสร้างงานศิลปะเพื่อสังคม จึงจะเรียกว่าศิลปะมีส่วนช่วยสร้างสังคมให้ดี
 
 
 
ครั้งนี้จึงได้เห็นพ่อแม่ผู้ปกครอง พาลูกวัยเด็กอนุบาล วัยประถมต้น มาร่วมแข่งขันระบายภาพวาดแต้มลงสีกันอย่างสนุกสนาน โดยการประกวดภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ เด็กอนุบาล 5-6 ปี ประกวดวาดภาพหัวข้อ “ฉันรักในหลวง” เด็กประถมต้น 7-9 ปี ประกวดวาดภาพหัวข้อ “ฉันเกิดในรัชกาลที่ 9 “ และเด็ก 10-12 ปี ประกวดวาดภาพหัวข้อ “ความดี วิถีพอเพียง” ซึ่งมีโรงเรียนสมัครเข้าร่วมโครงการนับร้อย แต่ก็ผ่านการคัดเลือก 36 แห่ง อาทิ รร.น่านคริสเตียนศึกษา รร.สามแยกหลอแหล รร.บ้านรังศิลป์ รร.อนุบาลเด่นหล้า รร.ปิยะพงษ์วิทยา รร.ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยชุมชนลาดพร้าว รร.บ้านรักศิลปะชุมพร รร.วัดปากน้ำฝั่งเหนือ รร.เธียรประสิทธิ์ รร.วัดโพธิ์ (ราษฎร์ผดุงผล) รร.อมรินทราราม รร.วิชูทิศ รร.วัดบรมนิวาส รร.วัดบัวแก้ว รร.บ้านรักศิลปะอำมฤต รร.ถนอมพิศวิทยา รร.วัดสามควายเผือก รร.เซนต์ดอมินิก รร.สมโภชกรุงอนุสรณ์ และ รร.วัดชัยพฤกษมาลา ฯลฯ ซึ่งผลรางวัลแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ เรื่องราว และ สร้างสรรค์ (ยอดเยี่ยม ดีเด่น ชมเชย) และทุกโรงเรียนสามารถคว้ารางวัลในแต่ละประเภททุกระดับไปครองได้ตามความสามารถทางศิลปะ นอกจากนี้ ยังมีเหล่าศิลปินจิตรกรชั้นแนวหน้า ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันมาร่วมวาดภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 บนเฟรมผ้าใบขนาดใหญ่เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ต่อมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งเป็น 1 ใน 10 มหาวิทยาลัยชื่อพระราชทานจากพระองค์ท่าน อีกทั้ง ยังเป็นการนำศิลปะสู่ชุมชนเพื่อสร้างสุขแก่สังคมในการเป็นมหาวิทยาลัยรับใช้สังคม
 
 
 
ผศ.ดร.ระวิวรรณ วรรณวิไชย คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มศว กล่าวว่า “ครูอารีคือผู้วางรากฐานศิลปศึกษาให้กับประเทศไทยและเป็นบรมครูศิลปะที่มีบทบาทในการบุกเบิกวิชาการศิลปศึกษาและก่อตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ มศว กิจกรรมการประกวดวาดภาพที่เลือกเด็ก 3 กลุ่มวัยนี้ก็เพื่อต้องการให้เห็นว่าศิลปะเกิดจากจินตนาการที่ไม่มีที่สิ้นสุด เด็กคือผู้ที่มีจินตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์ ผลงานศิลปะของเขาจะช่วยกล่อมเกลาจิตใจ อารมณ์ ศิลปะยังเป็นเครื่องมือในการบำบัดเยียวยาผู้ที่ตกอยู่ในสภาพจิตใจย่ำแย่หดหู่แม้แต่ผู้ต้องขัง ผู้พิการ ผู้มีความบกพร่องด้านต่างๆ ในลักษณะของศิลปะบำบัด ซึ่งปัจจุบันศิลปะได้เข้าไปมีอิทธิพลบทบาทมากในหลายด้านของการใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ครูอารีคือครูสอนศิลปะที่ยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง ให้อิสระทางความคิดเพราะครูเชื่อว่าคนเป็นครูนั้น ให้ความรักศิษย์ได้ ให้ความคิดไม่ได้ แต่สอนให้คิดได้ งานครั้งนี้มิใช่เพียงแค่การแสดงมุทิตาจิตต่อบรมครูศิลปะอารี สุทธิพันธุ์ ในวัย 86 ปีวันนี้ แต่เป็นการทำให้รู้ว่าศิลปะคือเครื่องมือสื่อสารที่มีไว้เพื่อสร้างสังคม ศิลปินก็ต้องทำงานเพื่อสังคมส่วนรวมเฉกเช่นที่ครูอารีทำมาตลอด ท่านจึงเป็นครูศิลปะเพื่อสังคมโดยแท้จริง”
 
 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์แนวหน้าออนไลน์ วันที่ 5 มกราคม 2560
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก