ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชน

วันที่ลงข่าว: 20/12/16

     สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ จัดประชุมวิชาการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชน มุ่งสร้างความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม พร้อมประสานความร่วมมือในรูปแบบเครือข่ายด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชนให้ครบทุกมิติ 

 

     น.พ.ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ “การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชน (CBR Forum 2016)” ภายใต้แนวคิด “Same Vision Same Goals for Sustainable : CBR ร่วมวิสัยทัศน์ สู่เป้าหมายเพื่อคนพิการ สานงาน CBR ให้ยั่งยืน” ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร ว่า การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชน (Community Based Rehabilitation : CBR) เป็นแนวทางที่องค์การอนามัยโลกได้ริเริ่มขึ้น และใช้เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการและผู้ป่วยโดยการอาศัยชุมชนเป็นส่วนร่วม เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์และองค์ประกอบอื่นๆ ที่จะช่วยลดความยากจน สร้างโอกาสที่เท่าเทียมและการมีส่วนร่วมของสังคมสำหรับคนพิการ ซึ่งประเทศไทยได้ดำเนินการสอดคล้องกับแนวทางขององค์การอนามัยโลก ตั้งแต่ พ.ศ.2526 กระทรวงสาธารณสุขจึงมอบหมายให้กรมการแพทย์ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาระบบบริการผู้สูงอายุและคนพิการ สนับสนุนและดำเนินการด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชนอย่างต่อเนื่อง

             

    สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ จึงเปรียบเสมือนตัวแทนภาคสาธารณสุขที่ดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ส่งเสริมให้คนพิการและผู้เกี่ยวข้องเข้าใจในสิทธิประโยชน์ เข้าถึงการดูแลสุขภาพ สนับสนุนองค์ความรู้และบรูณาการร่วมกันระหว่างภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ การศึกษา อาชีพ และสังคม ซึ่งการจัดประชุมวิชาการในครั้งนี้มีเป้าหมายสูงสุดเพื่อสร้างเครือข่ายพัฒนางานอย่างยั่งยืน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ เคารพสิทธิของคนพิการ ขจัดการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงเสริมสร้างให้คนพิการสามารถแสดงศักยภาพที่มีอยู่อย่างสร้างสรรค์มีคุณภาพชีวิตที่ดีและอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุขต่อไป

           

     พ.ญ.ดารณี สุวพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูฯ ได้ดำเนินโครงการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปัจจุบัน โดยในปี 2553-2554 เน้นการเพิ่มศักยภาพบุคลากร ในพื้นที่ ปี 2555-2557 เน้นพัฒนาทักษะเฉพาะด้านให้แก่บุคลากรที่ทำงานฟื้นฟูในพื้นที่ และในปี 2558-2560 มีชุมชนนำร่องที่ให้ความร่วมมือเข้าร่วมโครงการดังกล่าวจนประสบผลสำเร็จ จึงมีแผนที่จะการดำเนินการในชุมชนอื่นๆ ต่อไป ผลของการดำเนินโครงการทำให้เกิดการประสานความร่วมมือกันในรูปแบบเครือข่ายที่ชัดเจน มีการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดประสบการณ์ที่แตกต่างกันของแต่ละพื้นที่ ทุกหน่วยงานสามารถเรียนรู้ร่วมกัน พร้อมทั้งรับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้น และสามารถหาแนวทาง การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการที่เหมาะสมกับบริบทในชุมชนของตนเองต่อไป

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์บ้านเมืองออนไลน์ วันที่ 18 ธันวาคม 2559
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก