ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เตรียมพิจารณาแผนปฏิรูปการศึกษาสำหรับคนพิการและบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ แผนปฏิรูปการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุและแผนปฏิรูปการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาส

วันที่ลงข่าว: 13/12/16

        สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เตรียมพิจารณาแผนปฏิรูปการศึกษาสำหรับคนพิการและบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ แผนปฏิรูปการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุ และแผนปฏิรูปการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาส

       การประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท.ซึ่งจะเริ่มเวลา 09.30 น.วันนี้(13 ธ.ค.) มีวาระพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาสำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาส 3 เรื่อง คือ การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาสำหรับคนพิการและบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ และร่างพระราชบัญญัติ 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....โดยมีสาระสำคัญเป็นการผลักดันให้ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ จัดการศึกษาสำหรับคนพิการและบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ มุ่งเน้นการให้โอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม ทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัยต่อเนื่องตลอดชีวิตตามหลักสากล ใช้กลไกการทำงานเชิงพื้นที่ในทุกระบบ เน้นการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคประชาชนร่วมจัดการศึกษา และใช้กลไกการจัดการศึกษาในระดับจังหวัด โดยเสนอแนวทางการปฏิรูปให้มีการปฏิรูปด้านกฎหมาย นโยบาย ปฏิรูปหน่วยงานต่างๆ ปฏิรูปเพื่อรับรองการศึกษาแบบเรียนรวมและปฏิรูปเพื่อรองรับการศึกษาตลอดชีวิต

       ส่วนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุ สาระสำคัญเพื่อระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม ร่วมกันเปิดโอกาสและสนับสนุนให้ผู้สูงอายุ ได้รับการพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง ผ่านกระบวนการศึกษาและสามารถใช้ความรู้ในการพัฒนาตนเองเพื่อการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมสมัยใหม่ได้อย่างมีคุณภาพ เสนอแผนปฏิรูปโดยส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ของผู้สูงอายุผ่านการศึกษาตามอัธยาศัย ส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้สูงอายุผ่านการศึกษานอกระบบ เพื่อให้ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เช่น การมีโรงเรียนผู้สูงอายุ ส่งเสริมการพัฒนาทักษะอาชีพและการมีงานทำของผู้สูงอายุ

      ขณะที่ การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาส เป็นการเสนอแนวทางการปฏิรูป โดยให้มีผู้จัดการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาส หรือครูผู้สอนผู้ด้อยโอกาสให้ทุกท้องถิ่นหรือตำบล ให้มีระบบการจัดการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นและหลากหลาย ทั้งในและนอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย องค์กรเอกชน องค์กรทางศาสนา เพื่อรองรับการจัดการศึกษา รวมทั้งการส่งต่อและการจัดหางานสำหรับผู้ด้อยโอกาสแต่ละพื้นที่ ให้มีกลไกดำเนินการระดับจังหวัดและระดับพื้นที่ ภายใต้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) รวมทั้งควรมีกฎหมายเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาสและสาธารณชน

ที่มาของข่าว สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก