ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

รายงานพิเศษ การรถไฟฯ เปิดกลยุทธสู้ศึก ชิงผู้โดยสารกับโลคอศต์ฯ

วันที่ลงข่าว: 14/11/16

          ในยุคที่ธุรกิจบริการขนส่ง แข่งเดือด! แม้แต่ “บขส.” ที่ยึดครองตลาดในอดีตก็ต้องปรับตัวสู้กับ “รถตู้” หรือรถไฟที่ต้องมา ปรับกลยุทธ์สู้กับ “โลว์คอสต์ แอร์ไลน์” ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

 

           เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2559 ที่ผ่านมา ทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ได้เปิดให้บริการรถโดยสารรุ่นใหม่ในขบวนรถด่วนพิเศษ พร้อมกัน 2 เส้นทาง คือ1.“อุตราวิถี” (กรุงเทพฯ-เชียงใหม่-กรุงเทพฯ) และ 2.“อีสานวัตนา” (กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี-กรุงเทพฯ) ถือเป็นหนึ่งในการปรับตัวของการรถไฟฯล่าสุด

 

           ส่วนในวันที่ 2 ธ.ค. 2559 นี้ การรถไฟฯจะมีการเปิดเดินรถเพิ่มอีก 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทาง “อีสานมรรคา” กรุงเทพฯ-หนองคาย-กรุงเทพฯ และเส้นทาง“ทักษิณารัถย์” กรุงเทพฯ-หาดใหญ่-กรุงเทพฯ ซึ่งครบตามแผนการเปิดเดินรถใน 4 เส้นทางศักยภาพที่กำหนดไว้ ตามแผนการดำเนินการยกระดับคุณภาพการให้บริการทางรถไฟที่ดีแก่ประชาชนตามนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และกระทรวงคมนาคม ที่มุ่งเน้นการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำกระจายความเจริญสู่สังคม

 

            ในการนี้ การรถไฟฯยังได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการพระราชทานชื่อขบวนรถโดยสารรุ่นใหม่ และพระราชทานอนุญาตให้อัญเชิญชื่อพระราชทานนำไปประดับที่ตู้โดยสารรถไฟใหม่ทั้ง 115 คันอีกด้วย โดยเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่-กรุงเทพฯ พระราชทานชื่อว่า “อุตราวิถี”  เส้นทางกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี-กรุงเทพฯ พระราชทานชื่อว่า “อีสานวัตนา” เส้นทางกรุงเทพฯ–หนองคาย-กรุงเทพฯ พระราชทานชื่อว่า “อีสานมรรคา”  และเส้นทางกรุงเทพฯ–หาดใหญ่-กรุงเทพฯพระราชทานชื่อว่า “ทักษิณารัถย์”

 

            ในส่วนอัตราค่าโดยสารรถโดยสารรุ่นใหม่เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่-กรุงเทพฯ ประเภทรถนอนปรับอากาศชั้น 2 อัตราค่าโดยสารราคา 791-881 บาท และประเภทรถนอนปรับอากาศชั้น 1 อัตราค่าโดยสารราคา1,253-1,453 บาท, เส้นทางกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี-กรุงเทพฯ ประเภทรถนอนปรับอากาศชั้น 2 อัตราค่าโดยสารราคา 731-821 บาท ประเภทรถนอนปรับอากาศชั้น 1 อัตราค่าโดยสารราคา 1,120-1,320 บาท, เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย- กรุงเทพฯ ประเภทรถนอนปรับอากาศชั้น 2 อัตราค่าโดยสารราคา 748-838 บาท ประเภทรถนอนปรับอากาศชั้น 1 อัตราค่าโดยสาร ราคา 1,157-1,357 บาท เส้นทางกรุงเทพฯ-หาดใหญ่-กรุงเทพฯ ประเภทรถนอนปรับอากาศชั้น 2 อัตราค่าโดยสารราคา 855-945 บาท ประเภทรถนอนปรับอากาศชั้น 1 อัตราค่าโดยสารราคา 1,394-1,594 บาท อย่างไรก็ตาม ผู้โดยสารที่ได้จองตั๋วโดยสารไว้ล่วงหน้าและมีกำหนดเดินทางหลังจากมีการปรับใช้ขบวนรถใหม่การรถไฟฯอนุญาตให้ผู้โดยสารใช้บริการรถโดยสารรุ่นใหม่โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆเพิ่มเติม สำหรับรถโดยสารขบวนใหม่ดังกล่าวที่ให้บริการครั้งนี้แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ รถนอนปรับอากาศชั้น 1 และชั้น 2 ภายในมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวก เช่น “เนตไวไฟฟรี” จอแอลซีดี แจ้งข้อมูลข่าวสาร สายชาร์จยูเอสบี ปลั๊กไฟมีบริการตู้โดยสาร สำหรับผู้พิการ มีลิฟต์ยกวีลแชร์พื้นที่ตัดเก็บวีลแชร์ มีรถเสบียงที่สะดวกสบายมีที่นั่งทานอาหารขนาดใหญ่ มีเคาน์เตอร์บริการอาหารและเครื่องดื่มและอาหารที่จะเน้นบริการรอาหารแช่แข็งสามารถอุ่นเสิร์ฟได้ทันที ส่วนห้องน้ำนั้นก็มีความทันสมัยโดยใช้ระบบสุญญากาศที่เป็นแบบเดียวกับเครื่องบินรวมถึงยังมีห้องอาบน้ำไว้บริการด้วยวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) กล่าวระหว่างเปิดเส้นทางเดินรถใหม่ว่า ทางการรถไฟฯมีความมั่นใจว่าในการเปิดให้บริการรถโดยสารรุ่นใหม่ดังกล่าวจะสามารถให้การบริการที่ดีแก่ผู้โดยสารได้ เนื่องจากภายในห้องโดยสารประกอบด้วยบริการที่สะดวกสบาย สะอาด ปลอดภัย และทันสมัย ซึ่งใน 1 ขบวน จะประกอบด้วยรถพ่วงเป็นรถปรับอากาศนั่งและนอนชั้นที่ 1 (บนอ.ป.) รถปรับอากาศนั่งและนอนชั้นที่ 2 (บนท.ป.) ในจำนวนนี้มีรถสำหรับผู้พิการ 1 คัน รถโบกี้ขายอาหารปรับอากาศ (งบกข.ป.) และรถกำลังไฟฟ้า (Power Car) รวมถึงยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครันเช่น ห้องน้ำระบบสุญญากาศ ระบบกันสะเทือนแบบรถไฟความเร็วสูง ระบบทีวีแจ้งเตือน ปลั๊กไฟบริการทุกที่นอน จอทีวีส่วนตัวสำหรับผู้โดยสารชั้น 1 กล้องวงจรปิดควบคุมความปลอดภัย รถสำหรับคนพิการ เป็นต้น

 

            “การให้บริการรถโดยสารใหม่ดังกล่าวรวมกับแผนการก่อสร้างทางรถไฟ “ทางคู่” ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้หากดำเนินการแล้วเสร็จจะทำให้ขบวนรถใหม่ ทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถึงที่หมายปลายทางได้เร็วขึ้น 3 ชั่วโมง” ผู้ว่าการการรถไฟฯ กล่าว

 

             ต้องจับตาว่า หลังจากเปิดตัวขบวนรถโดยสารรุ่นใหม่สุดหรูหราแล้ว ร.ฟ.ท.ภายใต้การนำของ “วุฒิชาติ” ซึ่งอดีตเคยเป็นกรรมการผู้จัดการ บขส.มาก่อน กับ “ออมสิน ชีวะพฤกษ์” รมช.คมนาคม ผู้มีประสบการณ์ในฐานะอดีตประธานบอร์ด ร.ฟ.ท.และประสบความสำเร็จในการบริหารกิจการไปรษณีย์มาแล้ว จะมีอะไรใหม่ๆ มากู้วิกฤติให้ร.ฟ.ท.

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์แนวหน้าออนไลน์ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2559
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก