ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา

วันที่ลงข่าว: 08/11/16

          วันนี้ (7 พ.ย.2559) เวลา 09.35 น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ประจำปีการศึกษา 2558 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ในปีนี้ สภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีได้ขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาพยาบาลศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการพยาบาลทั้งการดูแลสุขภาพและการป้องกันความเสี่ยงจากการทำงานของพยาบาล รวมทั้งพระราชทานกำลังใจแก่พยาบาลวิชาชีพมาโดยตลอด จนก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน

ในการนี้ ได้พระราชทานปริญญากิตติมศักดิ์แก่ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 คน พระราชทานรางวัลเกียรติคุณเข็มกิตติการทองคำ จำนวน 1 คน จากนั้น พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก ปริญญาโท และปริญญาตรี รวมจำนวน 2,524 คน

โอกาสนี้ พระราชทานพระราโชวาท ความสำคัญตอนหนึ่งว่า "...บัณฑิตทั้งหลายถือได้ว่าเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่ได้ศึกษามา ย่อมมีความพร้อมที่จะนำความรู้ไปใช้ให้สำเร็จผลเป็นประโยชน์แก่ตนแก่ส่วนรวม แต่การนำความรู้ไปปฏิบติใช้ให้ได้ผลดังกล่าว จะต้องใช้ด้วยความซื่อตรงต่อหลักวิชา จึงจะเกิดประโยชน์ที่พึงประสงค์ ความซื่อตรงต่อหลักวิชานี้ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องยึดหลักวิชาหรือยึดทฤษฎีอย่างเหนียวแน่น หากหมายถึงการนำหลักวิชาไปใช้ด้วยความจริงใจและบริสุทธิ์ใจ ไม่บิดเบือนหลักวิชาเพื่อหาประโยชน์ที่มิใช่เป้าหมายของงานที่ทำ ทั้งต้องมีความระมัดระวังที่จะใช้หลักวิชาให้สำเร็จผลที่ดีที่เจริญเท่านั้น ไม่ก่อให้เกิดโทษหรือความเสียหายทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น อีกประการหนึ่ง จะต้องเข้าใจว่าความรู้หรือทฤษฎีต่างๆ นั้น เป็นสิ่งที่ไม่อาจนำไปใช้ได้อย่างตายตัว จำเป็นต้องอาศัยความคิดพิจารณาที่จะประยุกต์หรือปรับใช้ให้พอเหมาะพอดีกับงานแต่ละงานเสมอ จึงขอให้บัณฑิตทุกคนนำความรู้ไปใช้ด้วยวิจารณญาณและด้วยความซื่อตรงต่อหลักวิชาอย่างแท้จริง เพื่อให้ความรู้ที่แต่ละคนมีอยู่บังเกิดผลเป็นประโยชน์อันกว้างขวางและยั่งยืนได้ ดังที่ทุกคนทุกฝ่ายปรารภปรารถนา..."

จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด "อาคารสิรินธรวิศวพัฒน์" ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นอาคารทันสมัย สูง 5 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอย 25,000 ตารางเมตร เพื่อรองรับการปฏิบัติการพื้นฐานด้านวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในสาขาวิชาต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก ที่เป็นพื้นฐานของการพัฒนาประเทศ เช่น วิศวกรรมเครื่องกล ยานยนต์ อากาศยาน ขนส่งและโลจิสติกส์ เกษตรและอาหาร ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ โทรคมนาคม เมคคาทรอนิกส์ แอกกริทรอนิกส์และวิศวกรรมวัสดุ ทั้งเป็นแหล่งให้บริการ การวิเคราะห์ ทดสอบ และสอบเทียบเครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยตอบสนองความต้องการของภาครัฐ วิสาหกิจ และ ภาคอุตสาหกรรมในระดับภูมิภาค เช่น เขตอุตสาหกรรมสุรนารี เขตอุตสาหกรรมนวนคร 2 และเขตอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี เป็นต้น รวมทั้งรองรับการปฏิบัติการทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพในสาขาวิชาที่ขาดแคลน และสาขาวิชาทันตแพทศาสตร์ด้วย

ในการนี้ ทอดพระเนตรนิทรรศการผลงานวิจัยจากกองทุนนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์สมเด็จพระเทพรัตนราชาสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และนิทรรศการของศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เทคโนธานี เช่น การพัฒนาวัสดุเซรามิกชั้นสูงสำหรับใช้เป็นหมอนรองข้อเข่าเทียม เครื่องช่วยพยุงเดินต้านแรงโน้มถ่วงแบบอัตโนมัติ รถนั่งคนพิการสั่งงานด้วยเสียง และวิศวกรรมคลื่นสมอง เป็นต้น

โอกาสนี้ มหาวิทยาลัยฯ ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายผลงานและนวัตกรรม 2 ผลงานคือ เครื่องกำจัดลูกน้ำ ด้วยเครื่องอัลตร้าโซนิค ซึ่งพัฒนาจากการใช้ความถี่ย่านอัลตร้าโซนิคขนาด 20 กิโลวัตต์ ให้ลงไปทำลายวัฏจักรการเจริญเติบโตของลูกน้ำ บนผิวน้ำไม่ให้โตเป็นยุงตัวเต็มวัยได้ จึงช่วยลดจำนวนยุงตามแหล่งน้ำขังต่าง ๆ ทดแทนการใช้สารเคมี มีต้นทุนต่ำ ขนาดกระทัดรัด ทุกครัวเรือนสามารถมีไว้ใช้ได้ ส่วนพื้นอัจฉริยะ หรือ smart floor รุ่น S1 ที่น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย ออกแบบให้เป็นแหล่งกำเนิดพลังงานและเป็นเซ็นเซอร์สำหรับใช้ในเมืองอัจฉริยะในอนาคต ลักษณะเป็นพลังงานไฟฟ้าบนทางเดินเท้า ซึ่งผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ด้วยตัวเองด้วยหลักการเปลี่ยนพลังงานเชิงกลจากการเหยียบบนทางเท้าให้เป็นพลังงานไฟฟ้าและส่งผ่านวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อจัดเก็บในแบตเตอรี่หรือตัวเก็บประจุพลังงานที่ได้สามารถนำไปชาร์ตแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ หรือหลอดไฟแอลอีดี เพื่อเป็นไฟฉุกเฉิน และยังประยุกต์เป็นเซ็นเซอร์ได้ด้วย

เวลา 14.14 น. เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด "สวนพฤกษศาสตร์ มทส." พร้อมทอดพระเนตรแผนผังและนิทรรศการภายในสวนพฤกษศาสตร์ มทส. โดยสวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้ จัดทำขึ้นเมื่อปี 2539 บนพื้นที่ 80 ไร่ ซึ่งอดีตเป็นพื้นที่เสื่อมโทรม เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการอนุรักษ์พันธุ์พืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพฤกษศาสตร์และอนุรักษ์พันธุกรรมพืชท้องถิ่น รวมถึงการอบรมเผยแพร่ด้านพฤกษศาสตร์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้สำรวจข้อมูลทรัพยากรเดิมที่มีอยู่ แล้วทำให้สมบูรณ์ขึ้น ซึ่งพบพรรณพืช 81 วงศ์ 195 สกุล 421 ชนิด ขึ้นในป่าชนิดต่าง ๆ อาทิ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าทุ่งหญ้า ปัจจุบันมีการแบ่งเขตในการอนุรักษ์ ส่งเสริมการใช้สวนพฤกษศาสตร์เป็นสื่อการเรียนการสอน บริการวิชาการด้านพฤกษศาสตร์ ให้ความรู้แก่เยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ทั้งยังเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่มีความร่มรื่นและสวยงามให้แก่มหาวิทยาลัยฯ

โอกาสนี้ เสด็จพระราชดำเนินไปยังอาคารสุรพัฒน์ 5 ทอดพระเนตรนิทรรศการภายในห้องไทยศึกษานิทัศน์และวัฒนธรรมอาเซียน เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2536 เป็นห้องปฏิบัติการทางมานุษยวิทยา และเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นของประเทศไทยและกลุ่มอาเซียน ภายในฯ จัดแสดงนิทรรศการทางด้านความภูมิใจของท้องถิ่น และการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน เช่น ระหัดวิดน้ำลำตะคอง แบบจำลองที่อยู่อาศัยและสิ่งปลูกสร้างที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตชาวนาอีสาน โดยใช้เทคโนโลยี "ความจริงเสริม" ที่ใช้โทรศัพท์มือถือเป็นตัวอ่านข้อมูลที่บรรจุไว้ในนิทรรศการที่จัดแสดง เพื่อให้ผู้ชมได้มีส่วนร่วมและกระตุ้นการเรียนรู้ นิทรรศการเกี่ยวกับพระยากำธรพายัพทิศ (ดิส อินทโสฬส ณ ราชสีมา) ข้าหลวงประจำจังหวัดนครราชสีมา หรือพ่อเมืองคนสุดท้าย และนิทรรศการให้ความรู้ด้านวัฒนธรรมอาเซียน

จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังอาคารสุรพัฒน์ 4 ทอดพระเนตรนิทรรศการพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีไทยโบราณ ซึ่งสร้างขึ้นในปี 2547 เพื่อเป็นแหล่งเก็บรวบรวมอุปกรณ์เครื่องมือหลักฐานแห่งความทรงจำไว้ให้คนไทยได้ภาคภูมิใจในความสามารถของนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรไทยโบราณ สร้างความตระหนักในคุณค่าประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของบรรพชนไทย โดยภายในอาคารฯ ยังจัดแสดงความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีต้นแบบทางด้านงานเกษตรกรรม งานอาชีพหญิง-ชายในอดีต ยานพาหนะและกลไกในอดีตด้วย

เวลา 15.30 น. เสด็จพระราชดำเนินไปศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 11 อำเภอเมืองนครราชสีมา ทรงเปิดป้าย "อาคารสิริวิทยาทร" ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานชื่ออาคาร มีความหมายว่า "อาคารซึ่งเป็นแหล่งความเอื้ออาทร และความรู้อันเป็นมงคล" พระราชทานพระราชานุญาตให้เชิญอักษรพระนามาภิไธย "สธ" ประดับที่ป้ายชื่ออาคาร โดยอาคารนี้ สร้างเมื่อปี 2543 ตามมติคณะรัฐมนตรี ในการตั้งศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 11 เปิดดำเนินการเมื่อปี 2544 เพื่อเป็นศูนย์ช่วยเหลือด้านการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกหรือแรกพบความพิการ ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 18 ปี พร้อมกับสนับสนุนการเรียนการสอน การจัดสื่อ สิ่งอำนวยความสะดวกตามความจำเป็นพิเศษแก่ผู้ที่มีความต้องการพิเศษ 9 ประเภท ได้แก่ ผู้ที่บกพร่องทางการเห็น ทางการได้ยิน ทางสติปัญญา ทางร่างกายหรือการเคลื่อนไหว ทางการเรียนรู้ ทางพฤติกรรมหรืออารมณ์ ออทิสติก และพิการซ้อน โดยให้บริการทั้งแบบอยู่ประจำ และไปกลับ ครอบคลุมทั้ง 32 อำเภอของจังหวัดนครราชสีมา พร้อมทั้งมีหน่วยบริการสาขาย่อยที่อำเภอคงและสีคิ้ว ทำหน้าที่สำรวจติดตามหาผู้พิการที่ต้องการความช่วยเหลือ เป็นการทำงานในเชิงรุกบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนและให้บริการช่วยเหลือที่บ้านด้วย

ในปี 2559 มีนักเรียนในศูนย์ฯแห่งนี้ จำนวน 694 คน จัดการเรียนการสอนตามความต้องการพิเศษ เช่น ห้องศิลปะบำบัด เพื่อพัฒนาจิตใจ อารมณ์สังคม ห้องทักษะการดำรงชีวิต เรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การรับประทานอาหาร นอกจากนี้ ยังมีเด็กที่มีความต้องการพิเศษทางการศึกษาในจังหวัดรวมกว่า 25,000 คน ที่ทางศูนย์ฯ ได้ให้ความช่วยเหลือ ร่วมมือแก่โรงเรียนเรียนร่วมในเขตบริการ ให้ความรู้ จัดอบรมบุคคลากร ครู อาจารย์ ผู้ปกครอง ชุมชนและสังคมที่เกี่ยวข้องกับเด็กพิการ ปัจจุบัน มีโรงเรียนเข้าโครงการโรงเรียนแกนนำจัดการเรียนร่วม จำนวน 196 โรง และโรงเรียนแกนนำจัดการเรียนร่วมระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับบุคคลออทิสติก 3 โรง รวมทั้งจัดทำโครงการร่วมกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ร่วมกับกองทัพภาคที่ 2 โรงพยาบาลค่ายสุรนารี ใช้ม้าในการบำบัดหรืออาชาบำบัด แก่เด็กที่บกพร่องทางการทรงตัวและผิวสัมผัส เป็นต้น

เวลา 16.35 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ทรงวางศิลาฤกษ์อาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉิน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้รับงบประมาณในการดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2558 เพื่อให้บริการแก่ผู้ป่วยในเขตพื้นที่รับผิดชอบ และขยายบริการรองรับผู้ป่วยส่งต่อจากพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นการลดระยะเวลาการรักษาและผ่าตัดฉุกเฉิน ทำให้ประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินมีโอกาสรอดชีวิตเพิ่มมากขึ้น โดยเป็นอาคารสูง 12 ชั้น พร้อมลานจอดเฮลิคอปเตอร์ มีพื้นที่ใช้สอย 25,000 ตารางเมตร คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2561

ที่มาของข่าว สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก