ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สธ.สงขลา เชิญชวนทุกคนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการปฐมพยาบาลจิตใจคนใกล้ชิด และร่วมเปลี่ยนความโศกเศร้าเป็นพลัง เนื่องในสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ปี 2559 “ปฐมพยาบาลทางใจ คุณก็ช่วยคนอื่นได้”

วันที่ลงข่าว: 31/10/16

             สธ.สงขลา เชิญชวนทุกคนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการปฐมพยาบาลจิตใจคนใกล้ชิด และร่วมเปลี่ยนความโศกเศร้าเป็นพลัง เนื่องในสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ปี 2559 “ปฐมพยาบาลทางใจ คุณก็ช่วยคนอื่นได้”

นายแพทย์สรรพงษ์ ฤทธิรักษา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา กล่าวว่า วันที่ 1 – 7 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ปี 2559 กระทรวงสาธารณสุขกำหนดการรณรงค์ภายใต้แนวคิด “ปฐมพยาบาลทางใจ คุณก็ช่วยคนอื่นได้” โดยการปฐมพยาบาลทางใจ เป็นการให้ความช่วยเหลือทันทีกับผู้ประสบภาวะวิกฤตและสูญเสีย การสนับสนุนแก่ผู้ประสบเหตุการณ์ความรุนแรงที่ต้องการดูแลช่วยเหลือ ประเมินความต้องการที่จำเป็น/เร่งด่วน แสดงการเอาใจใส่ ความห่วงใย ให้ความสะดวกสบาย การให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และการส่งต่อให้ได้รับความช่วยเหลือที่จำเป็น และป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นเพื่อลดผลกระทบด้านจิตใจจากเหตุการณ์ และช่วยให้ปรับตัวสู่สภาพเดิม ซึ่งในการปฐมพยาบาลทางจิตใจมีจุดมุ่งหมายคือ 1) เพื่อลดความทุกข์ยากทั้งร่างกายและจิตใจ 2) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประสบภัยในการจัดการกับภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้น 3) เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ประสบภัยสามารถปรับตัวกลับสู่สภาพเดิมได้ และ 4) เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ประสบภัยได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง เหมาะสมและต่อเนื่อง

ดังนั้น ทุกคนสามารถให้การปฐมพยาบาลทางจิตใจได้ง่ายโดยยึดหลัก 3L ดังนี้ 1) LOOK : มองหา มองเห็น สำรวจค้นหาคนที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน เช่น แสดงอาการเศร้าโศกเสียใจรุนแรง กินไม่ได้ นอนไม่หลับ และสำรวจกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้เจ็บป่วยเรื้อรัง ที่แสดงอารมณ์ความรู้สึกสูญเสีย 2) LISTEN : รับฟัง มีสติรับฟังอย่างตั้งใจ ใช้ภาษากาย เช่น สบตา จับมือ โอบกอด เพื่อช่วยให้ผู้สูญเสียบอกเล่าอารมณ์ความรู้สึก คลายความทุกข์ในใจและจัดการอารมณ์ให้สงบ 3) LINK : ช่วยเหลือ/ส่งต่อ เช่น ให้การช่วยเหลือตามความจำเป็นพื้นฐาน เช่น ของใช้ ที่อยู่อาศัย ยา การเข้าถึงบริการส่งพบแพทย์ การให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อผู้ประสบภัยต้องการข้อมูล เช่น ข้อมูลญาติที่สูญหาย ทรัพย์สิน เป็นต้น ในกรณีที่ช่วยเหลือเบื้องต้นแล้วไม่ดีขึ้น เช่น ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ โศกเศร้ารุนแรง มีความคิดฆ่าตัวตาย ให้ส่งต่อตามความเหมาะสม โดยการช่วยเหลือควรพยายามติดต่อเชื่อมโยงกับครอบครัวหรือชุมชน และช่วยเหลือทางสังคมโดยการส่งต่อนักสังคมสงเคราะห์ หรือพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด , ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับในโอกาสที่ประชาชนชาวไทยมีความโศกเศร้าจากการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กระทรวงสาธารณสุขให้ทุกจังหวัดเปิดศูนย์วิกฤตสุขภาพจิต และศูนย์ปฎิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขเพื่อดูแลสุขภาพประชาชนรวมทั้งสุขภาพจิต และในโอกาสนี้เชิญชวนประชาชน “เปลี่ยนความโศกเศร้าเป็นพลัง” โดยสืบทอดพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

นายแพทย์สรรพงษ์ ฤทธิรักษา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้จังหวัดสงขลา กำหนดให้โรงพยาบาลในสังกัด จัดกิจกรรมสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติประจำปี 2559 ในวันที่ 1-7 พฤศจิกายน 2559 ภายใต้หัวข้อ “ปฐมพยาบาลทางใจ คุณก็ช่วยคนอื่นได้” จึงเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว และประชาชนสามารถเข้ารับการคัดกรองสุขภาพจิตได้ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน สำหรับประชาชนทั่วไปเชิญชวนมาร่วมเปลี่ยนความโศกเศร้าเป็นพลัง ดังนี้คือ 1. ให้ประชาชนได้โอกาสได้แสดงออกซึ่งความจงรักภักดีให้มากที่สุดผ่านพิธีกรรมทั้งของรัฐ ทุกศาสนาและชุมชนท้องถิ่น เช่น กิจกรรมไว้อาลัย สวดมนต์และพิธีกรรมของแต่ละศาสนา 2. ส่งเสริมให้บุคคลแสดงความรู้สึกส่วนตัวที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ เช่น การเขียนความรู้สึก การเล่าเรื่องความประทับใจที่มีต่อพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 3. มีส่วนร่วมในการทำสิ่งที่ดีงามให้กับพระองค์ เช่น การบริจาค กิจกรรมจิตอาสา 4. ช่วยกันดูแล คนใกล้ชิดที่อาจจะได้รับผลกระทบทางจิตใจสูง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ที่มีความรู้สึกผูกพันต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กลุ่มเด็กที่อาจจะรู้สึกสับสนถึงปฏิกิริยาของผู้ใหญ่ กลุ่มที่มีความเครียดจากปัญหาต่าง ๆ เช่น ปัญหาครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจ รวมทั้งคนที่มีความรู้สึกสูญเสียอย่างรุนแรง 5. ร่วมกันสืบทอดปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เช่น แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง การบริหารจัดการน้ำ โครงการในพระราชดำริต่าง ๆ สำหรับผู้ที่ประสบปัญหาในชีวิตและไม่สามารถหาทางออกได้ด้วยตนเอง ขอรับคำปรึกษาได้ฟรีที่ สายด่วน 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง

ที่มาของข่าว สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก