ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สาธารณสุขกาญจนบุรีห่วงประชาชนเศร้าโศก แนะหลัก 3L ดูแลจิตใจ กรณีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช สวรรคต

วันที่ลงข่าว: 21/10/16

  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เตรียมมาตรการรองรับภาวะวิกฤตด้านจิตใจของประชาชน เพื่อให้การดูแล แนะหลัก 3L (LOOK, LISTEN, LINK) ดูแลสุขภาพจิตคนใกล้ชิดที่มีความรู้สึกสูญเสียอย่างรุนแรง หลังจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สวรรคต

นพ.พนัส โสภณพงษ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข เตรียมความพร้อมของหน่วยบริการทางการแพทย์ทุกแห่งดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตประชาชน โดยให้ทุกจังหวัดเปิดศูนย์วิกฤติสุขภาพจิตและศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข “เปลี่ยนความโทมนัสให้เป็นพลัง” ให้รายงานสถานการณ์เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ทำงานใกล้ชิด พร้อมส่งเสริมให้ประชาชนให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เปลี่ยนความเศร้าโศกให้เป็นพลังในการทำความดีถวายพระองค์ท่าน เนื่องจากการสูญเสียนำมาซึ่งความทุกข์ใจของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่การรับรู้ข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างกว้างขวางรวมทั้งการรับรู้ผ่านสื่อออนไลน์ทั้งหลาย แต่ก็เป็นโอกาสในการที่จะสร้างความเชื่อมโยงของคนทั้งสังคมที่จะร่วมกันเป็นหนึ่งในการไว้อาลัย ร่วมสืบทอดปณิธานของพระองค์ท่านเพื่อให้สังคมไทยได้ก้าวต่อไป

จังหวัดกาญจนบุรีเตรียมความพร้อมในการจัดบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ให้การดูแลสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจผู้ที่ได้รับความกระทบกระเทือนจิตใจในเวลานี้อย่างเต็มที่ เพื่อเตรียมความพร้อมและป้องกันไม่ให้ประชาชนเกิดภาวะเครียด สามารถจัดการความเศร้าโศกและความเครียดได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังได้เน้นย้ำการเสริมสร้างขวัญกำลังใจของประชาชน ส่งเสริมให้ประชาชนดูแลสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ โดยประชาชนควรปฏิบัติ ดังนี้

1. ให้ประชาชนได้โอกาสได้แสดงออกให้มากที่สุดผ่านพิธีกรรมทั้งของรัฐ ทุกศาสนาและชุมชนท้องถิ่น เช่น กิจกรรมไว้อาลัย สวดมนต์และพิธีกรรมของแต่ละศาสนา 2. ส่งเสริมให้บุคคลแสดงความรู้สึกส่วนตัวที่มีต่อพระประมุขได้ เช่น การเขียนความรู้สึก การเล่าเรื่องความประทับใจที่มีต่อพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 3. มีส่วนร่วมในการทำสิ่งที่ดีงามให้กับพระองค์ เช่น การบริจาค กิจกรรมจิตอาสา 4. ช่วยกันดูแล คนใกล้ชิดที่อาจจะได้รับผลกระทบทางจิตใจสูง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ที่มีความรู้สึกผูกพันต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กลุ่มเด็กที่อาจจะรู้สึกสับสนถึงปฏิกิริยาของผู้ใหญ่ กลุ่มที่มีความเครียดจากปัญหาต่าง ๆ เช่น ปัญหาครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจ รวมทั้งคนที่มีความรู้สึกสูญเสียอย่างรุนแรง 5. ร่วมกันสืบทอดปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เช่น แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง การบริหารจัดการน้ำ โครงการในพระราชดำริต่าง ๆ

แนะหลัก 3L (LOOK, LISTEN, LINK) ดูแลสุขภาพจิตคนใกล้ชิด ดังนี้ LOOK : มองหา มองเห็น 1. สำรวจค้นหาคนที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน เช่น แสดงอาการเศร้าโศกเสียใจรุนแรง กินไม่ได้ นอนไม่หลับ 2. สำรวจกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้เจ็บป่วยเรื้อรัง ที่แสดงอารมณ์ความรู้สึกสูญเสีย LISTEN : รับฟัง มีสติรับฟังอย่างตั้งใจ ใช้ภาษากาย เช่น สบตา จับมือ โอบกอด เพื่อช่วยให้ผู้สูญเสียบอกเล่าอารมณ์ความรู้สึก คลายความทุกข์ในใจและจัดการอารมณ์ให้สงบ LINK : ช่วยเหลือ/ส่งต่อ 1. ให้การช่วยเหลือตามความจำเป็นพื้นฐาน 2. ในกรณีที่ช่วยเหลือเบื้องต้นแล้วไม่ดีขึ้น เช่น ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ โศกเศร้ารุนแรง มีความคิดฆ่าตัวตาย ให้ส่งต่อตามความเหมาะสม 3. การช่วยเหลือควรพยายามติดต่อเชื่อมโยงกับครอบครัวหรือชุมชน ถึงแม้การสูญเสียพระองค์ท่านเป็นความเศร้าโศกอันใหญ่หลวงของมหาชน แต่ก็เป็นโอกาสในการสร้างความเป็นหนึ่งอันเดียวกัน ที่จะได้แสดงความรู้สึกร่วมกัน และสืบทอดปณิธานของพระองค์ท่าน เพื่อให้สังคมไทยได้ก้าวต่อไป ประชาชนสามารถขอคำแนะนำ ปรึกษาสายด่วนกรมสุขภาพจิต โทร 1323

ที่มาของข่าว สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก