ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

จุฬา ฯ ร่วมมือกับลาวและเมียนมาวิจัยทางวิทยาศาสตร์

วันที่ลงข่าว: 10/10/16

นักวิจัยจุฬาฯ เผยพบ 100 สปีชีส์ใหม่ของโลกในไทย ตะขาบน้ำตก สัตว์หายากที่เขาสก ห้วยฮ่องไคร้ กิ้งกือกระสุนสายพันธุ์ใหม่ อธิการหนุนวิจัยทรัพยากรชีวภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เดินหน้าปั้นนักวิจัยอาเซียนสู้นานาชาติ ชี้ไทยโดดเด่นด้านชีวภาพ เป็นขุมทรัพย์ในอนาคต

 

เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2559 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แถลงข่าว “100 ปี จุฬาฯ 100 การค้นพบบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลกในไทย” ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า ในโอกาสที่  จุฬาฯ ครบรอบ 100 ปีแห่งการสถาปนา คณาจารย์ นักวิจัย และนิสิตแห่งหน่วยปฏิบัติการวิจัยซิสเทแมติกส์ของสัตว์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้ร่วมกันนำเสนอผลวิจัยพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งนำทีมโดย ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยซิสเทแมติกส์ของสัตว์ ซึ่งศึกษาวิจัยสิ่งมีชีวิตของประเทศไทยและค้นพบสัตว์ชนิดพันธุ์ใหม่ที่ยังไม่เคยรายงานมาก่อน ได้แก่ กิ้งกือ ไส้เดือน และตะขาบ ชนิดใหม่ของโลก เป็นผลงานวิจัยที่ถือว่ามีอยู่ที่ประเทศไทยแห่งเดียวเท่านั้น ซึ่งจุฬาฯ มีนโยบายและยุทธศาสตร์สร้างทรัพย์สินทางปัญญาจากงานวิจัยเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ จึงส่งเสริมการทำงานวิจัยภายใต้แนวคิดหลัก 3 ประการ คือ 1.อาจารย์และนิสิตสร้างงานวิจัยบนพื้นฐานมีองค์ความรู้ 2.หัวข้อวิจัยสามารถทำให้ประเทศมีอนาคต 3.งานวิจัยที่ส่งเสริมความร่วมมือกับนักวิจัยในอาเซียนเพื่อสร้างความได้เปรียบและเสริมความแข็งแกร่งในระดับนานาชาติ

 

“การโชว์ 100 การค้นพบสิ่งมีชีวิตใหม่ของโลกในไทย พร้อมจัดแสดงผลิตภัณฑ์ทางธุรกิจที่ต่อยอดจากงานวิจัย เช่น เวชสำอางจากหอยทากและปุ๋ยหมักจากไส้เดือนสายพันธุ์ไทย เป็นตัวอย่างแสดงศักยภาพและยืนยันมูลค่ามหาศาลของความหลากหลายทางชีวภาพของไทย ส่วนสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ถือเป็นขุมทรัพย์ที่ซ่อนอยู่ จุฬาฯ จะขยายความร่วมมือกับประเทศในอาเซียนมากขึ้น ทั้ง ลาว พม่า เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย เพื่อทำงานวิจัยที่มีบทบาทในภูมิภาคนี้” ศ.ดร.บัณฑิต กล่าว

 

ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา กล่าวว่า อาเซียนถือเป็นศูนย์กลางความหลากหลายทางชีวภาพของ แต่ที่จริงแล้วสปีชีส์ใหม่ๆ มีมากกว่า 100 รายการที่นำมาแสดง ส่วนการค้นพบที่เป็นไฮไลต์ของประเทศ และเป็นชนิดใหม่ของไทยมี กิ้งกือชนิดใหม่ 10 ชนิด เช่น กิ้งกือกระสุนพระรามห้วยฮ่องไคร่, กิ้งกือมังกรสีชมพูภาคเหนือ, กิ้งกือมังกรแดงตาก, กิ้งกือตะเข็บม้าลาย, กิ้งกือยักษ์, กิ้งกือกระบอก ฯลฯ ไส้เดือนพบมากกว่า 80 ชนิด เป็นชนิดใหม่ของโลกถึง 45 ชนิด เฉพาะปี 2559 นี้ พบ 7 ชนิดใหม่ ส่วนตะขาบพบ 3 ชนิดใหม่ของโลก ที่น่าตื่นเต้นคือ ตะขาบน้ำตก ทีมนักวิจัยจุฬาพบที่เขาสก จ.สุราษฎร์ธานี เป็นชนิดที่หายาก แล้วยังพบแพร่กระจายที่ลาวและเวียดนามด้วย นอกจากนี้ในรอบ 30 กว่าปี ไทยพบหอยทากบกชนิดใหม่ของโลก 121 ชนิด เห็นได้ชัดว่าไทยมีความโดดเด่นด้านทรัพยากรชีวภาพมาก ปัจจุบันงานวิจัยลงลึกระดับพันธุกรรม

 

img396-0

ศ.ดร.สมศักดิ์กล่าวอีก ก้าวต่อไปจุฬาฯ จะเดินหน้าถ่ายทอดความรู้และสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยในภูมิภาคอาเซียน โดยรับอาจารย์คำหล้า อินคะวิไล จาก สปป.ลาว ให้ศึกษาระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต และได้ทำวิจัยร่วมกับนักวิจัยไทย และได้เซ็นลงนามความร่วมมือสร้างห้องปฏิบัติการร่วมกันกับมหาวิทยาลัยมะริด ประเทศเมียนมา เพื่อสร้างนักวิจัยในอาเซียนสู้กับระดับโลก

ที่มาของข่าว http://dlfeschool.in.th
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก