ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

การจ้างงานคนพิการทำงาน

วันที่ลงข่าว: 23/09/16

   กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยกระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ สสส. ลงนามความร่วมมือสนับสนุนการจ้างงานคนพิการทำงานในหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข คาดภายในปี 2561 จะมีการจ้างงานคนพิการกว่า 2,000 คน เข้าทำงานในหน่วยงาน สธ.ในชุมชน ใกล้บ้าน

 

เมื่อวันที่19 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายสุเมธ มโหสถ รองปลัดกระทรวงแรงงาน นางณฐอร อินทร์ดีศรี ผู้อำนวยการกองกองทุนและส่งเสริมความเสมอภ...าคคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการจ้างงานคนพิการให้ทำงานในหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสร้างโอกาสให้คนพิการได้ทำงานในหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในชุมชน ได้ทำงานใกล้บ้าน ในสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคย

นายแพทย์โสภณกล่าวว่า การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ที่กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐและสถานประกอบการต้องจ้างงานคนพิการตามมาตรา 33 ในอัตราส่วน 1 : 100 คน รวมทั้งนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศให้หน่วยงานภาครัฐ จ้างงานคนพิการในหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานภายในปี 2561 โดยในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ข้อมูล ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2558 มีบุคลากรที่เป็นข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างประจำ รวม 229,884 คน การจ้างงานคนพิการค่อนข้างน้อย ดังนั้นคาดว่าจะมีการจ้างงานคนพิการรวมประมาณ 2,298 คน เข้าทำงานตามคุณลักษณะของงานและศักยภาพที่สามารถปฏิบัติได้ในหน่วยงานทุกระดับ ตั้งแต่โรงพยาบาลเฉพาะทาง โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ประมาณ 10,700 แห่งทั่วประเทศ ขณะนี้ได้จัดทำแนวทางการจ้างงานคนพิการของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด ดำเนินการเป็นแนวทางเดียวกัน

ทั้งนี้ หลักการจ้างงานคนพิการของกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วย 3 กรณี คือ1.การจ้างงานตามมาตรา 33 โดยกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการจ้างเอง ในอัตราส่วนคนพิการ 1 คนต่อจำนวนข้าราชการ ลูกจ้างประจำและพนักงานราชการ 100 คน สามารถจ้างคนพิการได้ทุกประเภท แบบเต็มเวลาเป็นลูกจ้างประจำ จ่ายค่าตอบแทนเป็นรายเดือนหรือรายวันตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ระยะเวลาการจ้างไม่น้อยกว่า 1 ปี 2.การจ้างตามมาตรา 35 โดยกระทรวงสาธารณสุขจ้างเอง เช่น การให้สัมปทานแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการได้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินในการประกอบอาชีพ การจัดสถานที่ในการจำหน่ายสินค้าหรือบริการ การจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการ การฝึกงานแก่คนพิการให้มีความรู้ ทักษะที่นำไปประกอบอาชีพได้ เป็นต้น และ3.การจ้างงานคนพิการ ตามมาตรา 33 และจ้างเหมาบริการคนพิการตามมาตรา 35 โดยสถานประกอบการภาคเอกชน ตามนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) เพื่อให้คนพิการเข้าปฏิบัติงาน ซึ่งมีมูลนิธินวัตกรรมทางสังคมภายใต้การสนับสนุนของ สสส. เป็นผู้ประสานงาน

 

ที่มาของข่าว สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก