ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

คุยกับ “น้องแนน” นิสิตเรียนดี มศว แม้ “ร่างกาย” บกพร่อง แต่ได้เกรดเฉลี่ยสูงสุดของชั้นปี

วันที่ลงข่าว: 21/09/16

ไม่นานนี้ มีภาพนิสิตหญิงและเรื่องราวชีวิตของเธอที่ถูกแชร์ในโซเชียลมีเดีย จนมีคนเข้าไปให้กำลังใจ กดไลก์แสดงความคิดเห็นกันมากมาย รวมทั้งยกเธอเป็นแรงบันดาลใจในการสู้ชีวิต

 

เธอผู้นั้น คือ “น้องแนน” ทิพภาวรรณ พลล่องช้าง นิสิตชั้นปีที่ 3 สาขาการจัดการธุรกิจไซเบอร์ วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว)

 

น้องแนนเป็นนิสิตหญิงที่มีความบกพร่องทางร่างกาย แขนทั้ง 2 ข้างและขาซ้ายพิการมาตั้งแต่กำเนิด แต่เธอกลับได้รับรางวัลเกรดเฉลี่ยสูงสุดของชั้นปี โดยมีเกรดเฉลี่ย 3.67

 

นับเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจให้แก่เพื่อนๆ นิสิต ว่าความบกพร่องทางร่างกายนั้นไม่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนแต่อย่างใด

 

ที่สำคัญ น้องแนนได้ปฏิเสธทุนการศึกษาแบบให้เปล่าจากทางมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และเลือกที่จะทำงานพิเศษที่โรงแรม SWUTEL (สวูเทล) ของมหาวิทยาลัย เพื่อหารายได้มาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน แบ่งเบาภาระผู้ปกครอง และเป็นทุนการศึกษาส่วนตัวอีกด้วย

 

น้องแนนเล่าว่า จริงๆ แล้ว ในตอนแรกไม่ได้ตั้งใจจะเลือกเรียนที่คณะนี้เป็นอันดับแรก แต่อยากเรียนคณะครุศาสตร์ สาขาคณิตศาสตร์ แต่ว่าพอได้ไปชิมลางสนามสอบมารู้สึกว่ายากเกินไป อาจไม่ใช่ทางถนัด

 

จึงมองความชอบของตัวเองว่าเป็นคนชอบเทคโนโลยีและเล่นคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่เด็กๆ จึงตัดสินใจมาเรียนด้านการจัดการธุรกิจไซเบอร์ ซึ่งคิดไว้ว่าน่าจะเป็นสาขาที่ตอบโจทย์ตัวเองในการบูรณาการระหว่างธุรกิจกับสื่อออนไลน์-อิเล็กทรอนิกส์เข้าด้วยกัน

 

น้องแนนเชื่อว่าสองสิ่งนี้จะช่วยให้ตัวเองเรียนหนังสือได้สนุกและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หรืออย่างน้อยๆ ก็ปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ ในฐานะที่เป็นคนชอบเทคโนโลยีและชอบใช้อินเตอร์เน็ต

 

อีกประการที่สำคัญ คือ สายงานนี้ไม่ได้เป็นสายงานที่ต้องใช้ร่างกายมากจนเกินไป ทั้งยังเป็นศาสตร์ที่ใช้ความเข้าใจมากกว่าเน้นวิชาการแบบสุดโต่ง ซึ่งพอได้มาเรียนไปสักพักก็รู้สึกว่า “ใช่” และเป็นทางของตัวเอง

 

หลายคนอาจสงสัยว่าความบกพร่องทางร่างกายของน้องจะก่อให้เกิดอุปสรรคต่อชีวิตประจำวันหรือไม่

 

ตัวน้องแนนและเพื่อนสนิท รวมถึงอาจารย์ผู้สอน ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เป็นอุปสรรคเลย และน้องแนนสามารถทำทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง

 

น้องแนนเล่าว่าอุปสรรคในการเรียนนั้นไม่ค่อยมี ถึงมีก็สามารถแก้ปัญหาได้ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเล็กน้อย อาทิ การจดเล็กเชอร์ไม่ทัน ก็ไปขอเนื้อหาจากอาจารย์ผู้สอน หรือ ตามถามเอาจากเพื่อน รวมถึงใช้วิธีอัดเสียงเอาไว้ย้อนฟัง

 

ที่สำคัญเพื่อนๆ ของน้องแนนแอบกระซิบว่าเธอแทบไม่เคยขอความช่วยเหลือจากคนอื่นเลย มิหนำซ้ำยังเป็นคนมีน้ำใจและเอื้อเฟื้อต่อเพื่อนๆ ด้วยซ้ำไป

 

น้องแนนเท้าความว่าตั้งแต่เด็กๆ ตนเรียนกับเด็กปกติมาตลอด และเคยมีโอกาสเข้าเรียนที่โรงเรียนสอนคนพิการอยู่ 2 ปี อยากจะบอกว่าคนพิการทุกคนไม่ต้องการขอความช่วยเหลืออะไรมาก สิ่งใดที่สามารถทำเองได้ก็จะทำ เพราะไม่อยากเป็นภาระใคร

 

เนื่องจากทุกคนต่างมีธุระภาระของเขา เราก็มีของเรา ถ้าเราทำเองได้ ก็จะส่งผลดีต่อทั้งเขาทั้งเรา

 

ส่วนที่น้องแนนเลือกจะช่วยเหลือและหยิบยื่นน้ำใจให้กับเพื่อนๆ นั้น เป็นเพราะว่าเมื่อเห็นคนอื่นเดือดร้อน ตนก็เข้าใจสภาวะนี้ดี ฉะนั้น เพื่อนคนไหนอยากให้ช่วยงานหรือให้ช่วยทำอะไร ถ้าไม่เกินความสามารถ ก็จะช่วยเต็มที่ เพราะถือว่าตัวเองได้บุญและอิ่มใจ แถมได้ความรู้สึกที่ดี ทำให้โลกนี้น่าอยู่มากขึ้น

 

 

กลับมาถึงเรื่องที่ทุกคนอยากรู้ คือ เคล็ดลับในการเรียนของน้องแนน ซึ่งอาจารย์ที่ปรึกษาเล่าให้ฟังว่าปกติผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดี-ดีเยี่ยมมาโดยตลอด แต่ปีนี้เป็นครั้งแรกที่น้องได้รางวัลเกรดเฉลี่ยสูงสุดของชั้นปี

 

น้องแนนเล่าว่าการเรียนหรือการรักษามาตรฐานในการเรียนไม่มีแบบแผนอะไรมาก เพียงแค่เวลาเรียนก็ทำให้เต็มที่เท่าที่ทำได้ ให้ความสำคัญกับการส่งงานตรงเวลา หากไม่เข้าใจก็ถามเพื่อนถามอาจารย์ ทำผลงานแต่ละชิ้นอย่างเต็มที่ น้องแนนมองว่าความรับผิดชอบเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญต่อผลการเรียน

 

น้องแนนมองว่าในกรณีของตัวเอง ความรู้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะถ้าตนเองมีความบกพร่องทางร่างกายด้วยและไม่มีความรู้ด้วย ชีวิตก็จบเลย ไปต่อไม่ได้ จึงจำเป็นต้องหาสิ่งที่มาสมดุลกันให้ได้

 

“บางคนอาจจะพอใจที่จุดจุดหนึ่ง ขอพอแล้ว รู้เท่านี้พอ แต่สำหรับเรา เราชอบแสวงความความรู้ใหม่ๆ ชอบเที่ยว ชอบมองอะไรใหม่ๆ เพราะสิ่งที่เรารู้ เราเจอ ยังไม่พอสำหรับการใช้ชีวิต ต้องแสวงหาต่อ

 

“โลกอาจไม่ได้สวยงามอย่างเราคิด เราต้องออกไปเจออะไรอีกมากมาย มีหลายอุปสรรค ไม่ว่าทั้งการทำงาน การพบเจอผู้คน ชีวิตหนูแค่เดินออกไปบีทีเอสก็มีอุปสรรคแล้ว เราคิดว่าถ้าเรามีความรู้พอเอาตัวรอดในชีวิตนี้ได้ ก็จะไม่ทิ้งการเรียนและทำอย่างอื่นควบคู่กันไป” น้องแนนกล่าว

 

ส่วนคอมเมนต์ของคนที่พยายามยึดถือน้องแนนเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต ซึ่งถูกส่งมาให้ เธอมีโอกาสได้อ่านทั้งหมดแล้ว และอยากจะบอกทุกคนว่ารู้สึกดีใจและขอบคุณที่เห็นตนแล้วมีกำลังใจ

 

แต่อยากจะบอกว่าตัวเองก็ได้กำลังใจจากอีกหลายๆ คนเช่นกัน ตนได้กำลังใจที่บ้าน จากเพื่อนๆ จากคนที่ตนเองชื่นชม การมีทัศนคติที่ดีของเขาและนำเอามาเป็นแบบอย่าง

 

ส่วนตัวเชื่อว่าพอพลังบวกมาเจอกันจะทำให้มีชีวิตที่ดี แต่ไม่อยากให้ใช้ชีวิตแบบกดดันหรือเปรียบเทียบกัน เพราะว่าคนเรามันเทียบกันไม่ได้ เนื่องจากพื้นฐานไม่เท่ากันแต่แรก การเปรียบเทียบเป็นเหมือนการกดคนหนึ่งให้ดูต่ำลง แล้วสภาพจิตใจของคนด้อยกว่าที่ถูกเปรียบเทียบก็จะยิ่งย่ำแย่ต่ำต้อย

 

ฉะนั้น เราสามารถเลือกทำในสิ่งที่เราพอใจ ทำตามสิ่งที่ดี และนำบุคคลที่ชื่นชมมาเป็นแรงบันดาลใจในชีวิต แต่ไม่อยากให้เอามาเปรียบเทียบกัน

 

สำหรับแผนการชีวิตในอนาคตของน้องแนน แม้จะยังไม่ได้เป็นรูปเป็นร่างชัดเจน แต่เธอก็กำลังคิดใคร่ครวญอยู่ว่าจะเรียนต่อหรือทำงานก่อนดี

 

ถ้าเรียนจบสูงๆ ก็อยากมาเป็นครูหรือทำธุรกิจ แต่อีกใจหนึ่งก็อยากหาประสบการณ์เพิ่ม เลยคิดว่าจะหาประสบการณ์ระหว่างเรียน

 

อย่างไรก็ตาม น้องแนนตั้งใจจะทำชีวิตให้ประสบความสำเร็จเพื่อความภูมิใจของพ่อแม่ แม้ทางบ้านจะไม่ได้ให้กำลังใจเป็นรูปเป็นร่างหรือเป็นถ้อยคำบ่อยครั้งนัก แต่ตัวเองกลับได้รับรู้ถึงความรู้สึกที่ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านความผูกพันของสมาชิกในครอบครัว

 

“ชีวิตนี้เขาไม่ได้ทอดทิ้งหนู ให้หนูเกิดมามีชีวิต ทั้งที่เขาสามารถเลือกได้ ว่าจะให้หนูอยู่ต่อไหม (เสียงสั่น)”

 

ตอนนี้ น้องแนนจึงช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัวด้วยการไปฝึกงานหารายได้พิเศษที่โรงแรมสวูเทลของมหาวิทยาลัย หน้าที่ที่รับผิดชอบคือแผนกรีเซฟชั่น ช่วยเช็กอิน เช็กเอาต์ เช็กความเรียบร้อยของห้องพัก

 

โดยตัวเองรู้สึกว่างานนี้สนุกดี แม้จะมีอาการแอบเขินฝรั่งบ้างก็ตาม

 

ก่อนจากกันน้องแนนทิ้งท้ายในสิ่งที่อยากสื่อไปถึงสังคมปัจจุบันว่า ส่วนตัวรู้สึกว่าสังคมมีความรุนแรงค่อนข้างสูง อยากให้ทุกคนลองใจเย็นให้มากขึ้น รู้จักแบ่งปันน้ำใจต่อกัน เพื่อให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้น

 

สำหรับใครที่กำลังท้อแท้หมดกำลังใจ อยากให้มองข้างหลังของเรา บางคนคิดว่าเราไม่เหลือใคร แต่สิ่งที่เราเหลือคือครอบครัว ซึ่งคอยเฝ้าดูเราอยู่ห่างๆ

 

หรือต่อให้ไม่มีครอบครัว เราก็ต้องอยู่เพื่อตัวเอง ลองออกไปทำอะไรใหม่ๆ ไปเที่ยว เปิดโลกใหม่ รับสิ่งอื่นๆ เข้ามา ชีวิตนี้เราสามารถออกนอกกรอบได้ โลกไม่ได้มีแค่กรอบสี่เหลี่ยมเล็กๆ

 

น้องแนนจึงอยากเป็นกำลังใจให้ทุกคนในการสู้ชีวิตต่อไป
 
 

ขอบคุณข้อมูลจาก: คอลัมน์ เปลี่ยนผ่าน โดย พิชญ์เดช แสงแก่นเพ็ชร์

เผยแพร่ วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ.2559

ที่มาของข่าว มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 กันยายน 2559
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก