ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ระหว่างวันที่ 19 - 22 กันยายน พุทธศักราช 2559

วันที่ลงข่าว: 20/09/16

 วันนี้ (19 ก.ย.2559) เวลา 08.52 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ทรงเปิดอาคาร "ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี" ซึ่งรัฐบาลและจังหวัดสงขลาจัดสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี 9 มิถุนายน 2549 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานชื่ออาคาร พร้อมทั้งพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญตราสัญลักษณ์การจัดงานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ไปประดิษฐานที่ป้ายชื่ออาคารด้วย อาคารฯ ดังกล่าวเริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อปี 2549 แล้วเสร็จและเปิดใช้อย่างไม่เป็นทางการในปี 2551 ลักษณะเป็นอาคารที่ทันสมัย ผสมผสานสถาปัตยกรรมทางภาคใต้ มีพื้นที่ใช้สอยกว่า 15,000 ตารางเมตร สำหรับเป็นสถานที่จัดกิจกรรม แสดงนิทรรศการ จัดการประชุม สัมมนา ทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างเศรษฐกิจของจังหวัดสงขลา รวมถึงจังหวัดใกล้เคียง โดยสามารถรองรับผู้เข้าประชุมและผู้เข้าชมงานได้ถึง 5,000 คน

ต่อจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ประจำปีการศึกษา 2558 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี โดยมี ผู้ทรงคุณวุฒิเข้ารับพระราชทานปริญญากิตติมศักดิ์ จำนวน 5 คน มีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาตรี จากวิทยาเขตสงขลา วิทยาลัยรัตภูมิ วิทยาเขตนครศรีธรรมราช ไสใหญ่ วิทยาเขตนครศรีธรรมราช ทุ่งใหญ่ วิทยาเขตนครศรีธรรมราช ขนอม และวิทยาเขตตรัง เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร รวมจำนวน 4,330 คน

โอกาสนี้ พระราชทานพระราโชวาท ความสำคัญตอนหนึ่งว่า "…ความสำเร็จที่แท้จริงซึ่งบัณฑิตพึงปรารถนานั้น เชื่อว่าไม่ได้เป็นเพียงความสำเร็จทางการศึกษาดังที่ได้รับไปแล้วในวันนี้ แต่คือความสำเร็จในการดำเนินชีวิตและประกอบกิจการงานต่อไปในภายหน้า การที่แต่ละคนจะบรรลุถึงความสำเร็จดังกล่าวได้ มีคุณธรรมอยู่ 4 ประการ ที่ทุกคนจะต้องยึดถือเป็นหลักประจำใจ ประการแรก คือการตั้งสัจจะ ตั้งใจจริง ที่จะประพฤติ ปฏิบัติแต่สิ่งที่ดีที่ถูกต้อง ประการที่สอง คือการรู้จักข่มใจตนเอง ให้คิด พูด ทำ เฉพาะสิ่งที่ดี ที่ถูกต้องดังที่ได้ตั้งใจไว้ ประการที่สาม คือการอดทนอดกลั้น ที่จะไม่ประพฤติทวนสัจจะความตั้งใจจริงของตนเป็นอันขาด ประการที่สี่ คือการสละละวางความชั่วความทุจริตทั้งปวง และยินดีที่จะเสียสละประโยชน์เฉพาะตน เพื่อประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่กว่าคือประโยชน์ของส่วนรวม คุณธรรมทั้ง 4 ประการนี้ หากบัณฑิตยึดมั่นและปฏิบัติบำรุงให้เจริญงอกงามขึ้นแล้ว ก็มั่นใจได้ว่าจะสามารถดำรงตนให้อยู่ในทางที่ดีที่เป็นสุจริต และประกอบกิจการงานให้สำเร็จผลก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้น ทั้งยังสามารถสร้างสรรค์ความดีความเจริญที่แท้จริงและยั่งยืนให้แก่สังคมและชาติบ้านเมืองได้อีกด้วย จึงขอให้ทุกคนนำสิ่งที่พูดนี้ไปพิจารณา และยึดถือปฏิบัติให้บังเกิดประโยชน์สูงสุด..."

เวลา 13.42 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์สงเคราะห์บุคคลปัญญาอ่อนภาคใต้ ตำบลท่าชะม่วง อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ทรงเปิด "อาคารสิริกิติยาทร" จัดสร้างโดยมูลนิธิช่วยคนปัญญาอ่อนแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่ออาคาร "สิริกิติยาทร" พร้อมอักษรพระนามาภิไธย "สธ" เพื่อประดิษฐานที่หน้าอาคาร โดยจัดสร้างเป็นอาคารฝึกอาชีพ 1 หลัง และอาคารที่พักอาศัยของผู้ปกครองและผู้พิการทางสติปัญญา 1 หลัง

ศูนย์สงเคราะห์บุคคลปัญญาอ่อนภาคใต้ จังหวัดสงขลา เดิมตั้งอยู่ที่เชิงสะพานติณสูลานนท์ จัดตั้งขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2529 เพื่อบริการผู้พิการทางสติปัญญา โดยอยู่ในพื้นที่ของโรงเรียนสงขลาพัฒนาปัญญา ต่อมาในปีพุทธศักราช 2536 คณะกรรมการมูลนิธิฯ ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายโรงเรียนสงขลาพัฒนาปัญญา แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อพระราชทานแก่กระทรวงศึกษาธิการ รับไปดำเนินงานต่อไป ทางโรงเรียนได้มีความก้าวหน้าและขยายพื้นที่มาโดยตลอด ในปีพุทธศักราช 2558 ศูนย์สงเคราะห์บุคคลปัญญาอ่อนภาคใต้ฯ จึงได้ย้ายมาอยู่ในพื้นที่ปัจจุบัน โดยนายวิทยา สิทธิรักษ์ ได้บริจาคที่ดินจำนวนกว่า 26 ไร่ ซึ่งได้จัดสร้างเป็นศูนย์ให้บริการฝึกทักษะและฝึกอาชีพแก่ผู้พิการทางสติปัญญา

ภายในศูนย์สงเคราะห์บุคคลปัญญาอ่อนภาคใต้ฯ ได้ให้บริการด้านต่างๆ อาทิ การแก้ไขการฝึกพูด โดยให้เด็กใช้ปากกาที่มีเสียงสะกดคำชี้ไปที่สมุดภาพเพื่อสอนเด็กเรียนรู้การออกเสียง มีมุมทดสอบการได้ยิน โดยใช้ของเล่นที่เป่าออกเสียง และมุมบริหารอวัยวะในการพูด ด้วยการเป่าลูกปิงปอง เป่าฟองสบู่ เพื่อแก้ไขปัญหาในการออกเสียงไม่ชัด นอกจากนี้ยังจัดกิจกรรมฝึกอาชีพ ศิลปบำบัด ดนตรีบำบัด และกายภาพบำบัดเพื่อช่วยฟื้นฟูเด็กบกพร่องทางสติปัญญาและการเคลื่อนไหว ซึ่งจะช่วยการปรับตัวและควบคุมความตึงตัวของกล้ามเนื้อ ให้ใกล้เคียงกับภาวะปรกติมากที่สุด

เวลา 15.10 น. เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด "อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ ที่ 12 จังหวัดสงขลา" อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งสร้างขึ้นโดยได้รับความอนุเคราะห์ที่ดินบางส่วน ในบริเวณศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 12 สงขลา เพื่อทดแทนอาคารหลังเดิมที่ชำรุดทรุดโทรม เนื่องจากเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ ถึง 2 ครั้ง ในปีพุทธศักราช 2543 และ 2553 ส่งผลให้อาคาร เครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ ได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก ประกอบกับอาคารหลังเดิมคับแคบ และที่ดินโดยรอบมีพื้นที่จำกัด ไม่สามารถรองรับกับการขยายศักยภาพของภาคบริการโลหิตฯ ที่ให้บริการแก่โรงพยาบาลเครือข่ายภาคใต้ตอนล่าง 7 จังหวัด ได้แก่ สงขลา พัทลุง ตรัง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยเป็นอาคาร 3 ชั้น ได้รับการออกแบบที่สวยงามและทันสมัย มีพื้นที่ใช้งาน 2,629 ตารางเมตร รองรับการขยายงานบริการโลหิตแบบครบวงจร ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ชั้นที่ 1 มีห้องโถงกว้าง สามารถรองรับผู้มาบริจาคโลหิตมากถึงวันละ 300 คน มีเตียงรับบริจาคโลหิตที่ได้มาตรฐาน 10 เตียง ห้องจ่ายโลหิต ที่พร้อมให้บริการแก่โรงพยาบาลในจังหวัดเครือข่าย 24 ชั่วโมง และห้องเย็นเก็บรักษาโลหิต ชั้นที่ 2 ประกอบด้วย ห้องปั่นแยกส่วนประกอบโลหิต มีเครื่องมือทันสมัยได้มาตรฐานเดียวกับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ซึ่งโลหิตที่ได้จากการบริจาค 1 ถุง หรือ 1 ยูนิต จะนำมาแยกเป็นส่วนประกอบของโลหิต คือ เม็ดเลือดแดง เกร็ดเลือด และพลาสมา เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับเฉพาะโลหิตที่ต้องการอย่างคุ้มค่า ชั้นที่ 3 ประกอบด้วย ห้องปฏิบัติการตรวจคัดกรองโลหิต ตรวจหมู่โลหิตระบบ ABO และระบบ Rh การตรวจแอนติบอดีของหมู่โลหิตต่างๆ ในน้ำเหลือง และการตรวจคัดกรองโรคที่ติดต่อทางโลหิต โดยวิธีน้ำเหลืองวิทยา (serology ) และการตรวจคัดกรองด้วยวิธี Nucleic Acid Amplification Technique (NAT) ที่มีความไวสูง นอกจากนี้ยังมีอาคารประกอบซึ่งเป็นอาคารหอพัก อาคารซ่อมบำรุง และอาคารพักขยะ

ที่มาของข่าว สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก