ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย จังหวัดเลย แนะประชาชนในการดูแลสุขภาพช่วงน้ำท่วม โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง เพื่อป้องกันโรคและอันตรายต่างๆ ที่ตามมาช่วงน้ำท่วม

วันที่ลงข่าว: 19/09/16

นายแพทย์ภักดี สืบนุการณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย จังหวัดเลย กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลยในหลายพื้นที่มีน้ำท่วม ส่งผลให้เราประสบความเดือดร้อนในหลายด้านไม่ว่าจะเป็น ด้านที่อยู่อาศัย อาหารการกิน เครื่องนุ่งห่ม และความเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ที่มากับน้ำท่วม เช่น น้ำกัดเท้า อุจจาระร่วง ไข้ฉี่หนู ตาแดงไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก รวมทั้งอันตรายจากภัยสุขภาพจากน้ำ เช่น การตกจมน้ำ ไฟฟ้าช๊อต สัตว์มีพิษอันตราย เป็นต้น ดังนั้น จึงขอแนะนำให้ประชาชนได้ดูแลรักษาสุขภาพในช่วงน้ำท่วม น้ำขัง หากจำเป็นต้องเดินทางหรือทำกิจกรรมทางน้ำ ควรเตรียมตัวอุปกรณ์ชูชีพให้พร้อม หรือนำอุปกรณ์ประยุกต์ที่หาง่ายติดตัวไปด้วยเสมอ เช่น ถังแกลลอนเปล่าปิดฝา ขวดน้ำพลาสติกเปล่าปิดฝา ให้ระวังเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวจากกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว เพราะอาจถูกกระแสน้ำพัดพาหรือตกลงในบ่อน้ำลึกได้ อย่าพยายามวิ่งหรือขับรถผ่านในที่มีน้ำไหลเชี่ยว ให้ตัดสวิตซ์กระแสไฟฟ้าเพื่อป้องกันไฟฟ้าดูดหรือช็อต ขณะเกิดน้ำท่วมขัง จัดเตรียมของใช้ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต เช่น น้ำดื่ม ไฟฉาย ยารักษาโรคพื้นฐาน ยาโรคประจำตัว และสิ่งของที่มีความจำเป็นในการดำรงชีวิตอื่นๆ

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย กล่าวย้ำว่า หากย่ำน้ำหรือลุยน้ำ อาจทำให้เกิด "โรคน้ำกัดเท้า” ได้ โรคนี้มักเกิดตามง่ามเท้า โดยอาการที่พบบ่อยคือ ผิวหนังจะแห้ง ตกสะเก็ด แตกเป็นร่องแผลสด บวม เจ็บ และคัน บางครั้งอาจขึ้นเป็นตุ่มน้ำ และเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนได้ ซึ่งเพิ่มการอักเสบบวม แดง ร้อน และอาจเกิดเป็นหนองได้ ซึ่งจะส่งผลให้โรครุนแรงขึ้น ดังนั้น เมื่อย่ำน้ำหรือลุยน้ำเสร็จ เมื่อกลับเข้าบ้านให้ล้างเท้าให้สะอาด โดยล้างน้ำและสบู่ เช็ดให้แห้ง โดยเฉพาะบริเวณซอกเท้า เพื่อให้เท้าแห้งสนิท ให้ใช้แป้งฝุ่นสำหรับโรยตัว โรยที่เท้าและซอกเท้า หากมีบาดแผลให้ใช้แอลกอฮอล์เช็ดแผล แล้วทาด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น ทิงเจอร์ เบตาดีน ถ้ามีแผลอักเสบบวมและปวด และบางครั้งรุนแรงจนถึงเป็นไข้ ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที และอีกโรคที่ต้องระมัดระวังคือ โรคฉี่หนู หรือโรคเล็ปโตสไปโรซิส ซึ่งพบได้ในกรณีที่ย่ำน้ำหรือลุยน้ำ เมื่อได้รับเชื้อจะแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อ 2-3 วัน จนถึง 2-3 สัปดาห์ อาการที่สำคัญ คือ มีไข้ ปวดศีรษะ ตาแดง ปวดกล้ามเนื้อโดยอย่างยิ่งที่น่อง ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแทรกซ้อน คือ ตัวเหลือง ตาเหลือง ไตวาย หรืออาการทางสมองและระบบประสาท และอาจถึงตายได้ ( อัตราการตายสูงถึง ร้อยละ 10-40) ดังนั้น ต้องรีบอาบน้ำ ทำความสะอาดร่างกายโดยเร็ว หากแช่หรือย่ำลงไปในแหล่งน้ำ

สำหรับผู้มีบาดแผลหรือรอยถลอก หากจำเป็นต้องลุยน้ำหรือย่ำน้ำ หรือต้องสัมผัสกับน้ำท่วมขังหรือพื้นที่ชื้นแฉะ ควรใช้ปลาสเตอร์กันน้ำปิดแผล สวมใส่รองเท้ากันน้ำ ไม่ใช้น้ำที่ท่วมขังมาถูกแผล ภายหลังการสัมผัสน้ำท่วมขัง ต้องรีบทำความสะอาดแผลให้สะอาดทันที หากมีอาการไม่สบายต้องรีบพบแพทย์ทันที

ที่มาของข่าว สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก