ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ ตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน บัญชาการควบคุมโรคไวรัสซิกา ภายหลังพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกา พร้อมรณรงค์ประชาชนกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ด้วยมาตรการ 3 เก็บ

วันที่ลงข่าว: 19/09/16

สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ ตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน บัญชาการควบคุมโรคไวรัสซิกา ภายหลังพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกา พร้อมรณรงค์ประชาชนกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ด้วยมาตรการ 3 เก็บ

นายแพทย์พีระ อารีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์และแนวทางการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ว่า จังหวัดกาฬสินธุ์พบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกา จำนวน 4 ราย ในพื้นที่บ้านโนนสามัคคี หมู่ 5 ตำบลนามน อำเภอนามน จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยผู้ป่วยมีอาการไข้ออกผื่น ตาแดง และปวดตามข้อ และได้เข้ารับการรักษาจากแพทย์แล้ว ซึ่งขณะนี้ทางสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (Emergency Operations Center, EOC) เพื่อเป็นศูนย์บัญชาการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ประกอบด้วยทีมสอบสวนโรค ทีมควบคุมโรค และทีมข้อมูล บูรณาการการทำงานร่วมกันของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกๆ อำเภอในจังหวัดกาฬสินธุ์ อีกทั้งได้จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบพื้นที่เป้าหมายควบคุมโรค พ่นสารเคมี กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสซิกาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนประสานกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้ความรู้แก่ประชาชนในชุมชน นักเรียนในการป้องกันและเฝ้าระวังโรค

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวอีกว่า ประชาชนไม่ต้องตื่นตระหนกกับโรคดังกล่าว เนื่องจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้เตรียมแนวทางการควบคุมโรคไว้แล้ว พร้อมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนกำจัดยุงลายด้วยมาตรการ 3 เก็บ 3 โรค คือเก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ ป้องกันโรคที่เกิดจากยุงลายพาหะนำโรค ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา อย่างไรก็ตามหากมีอาการไข้ ออกผื่น มีอาการตาแดงหรือปวดตามข้อ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเก็บปัสสาวะและเลือด ส่งตรวจหาเชื้อไวรัสซิกา โดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากหากติดเชื้อ อาจส่งผลให้บุตรคลอดมามีอาการศรีษะเล็กหรือพิการได้

ที่มาของข่าว สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก