ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ม.อ. มอบรางวัลอนุสรณ์สงขลานครินทร์ ปี 59 แก่ 3 ผู้ยังประโยชน์ให้ภาคใต้

วันที่ลงข่าว: 12/09/16

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มอบรางวัลอนุสรณ์สงขลานครินทร์ ประจำปี 2559 แก่เภสัชกรยิปซี แพทย์ผู้พัฒนาระบบบริการสาธารณสุขภาคใต้ และนายกสมาคมชาวประมงพื้นบ้านปัตตานี เพื่อยกย่องในฐานะผู้อุทิศตนทำประโยชน์แก่ชุมชนในภาคใต้ เป็นตัวอย่างและเป็นแรงบันดาลใจในการทำประโยชน์แก่ชุมชนให้อนุชนรุ่นหลัง โดยผู้ได้รับรางวัลจะเข้ารับพระราชทานโล่เกียรติยศในวันพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัย ในวันที่ 28-30 กันยายน 2559 เงินรางวัล และได้รับการประกาศเกียรติคุณในงานวันสงขลานครินทร์ ผู้ได้รับรางวัลอนุสรณ์สงขลานครินทร์ ประจำปี 2559 ทั้ง 3 ท่าน ประกอบด้วย

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เภสัชกรหญิงกฤษณา ไกรสินธุ์ อธิการวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้มีชื่อเสียงในด้านการอุทิศตนทำประโยชน์แก่สังคมโลก โดยริเริ่มการวิจัยจนสามารถผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ และเดินทางไปช่วยเหลือประเทศยากจนในทวีปแอฟริกาจนได้รับฉายา ”เภสัชกรยิปซี” ท่านมีความมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยใช้ยาสมุนไพรจากพืชท้องถิ่นเพื่อการรักษา โดยร่วมมือกับคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ออกสำรวจโรงพยาบาลซึ่งมีการผลิตยาสมุนไพรในภาคใต้ และพัฒนาจนได้มาตรฐานคุณภาพตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต หรือ GMP พร้อมสร้างเครือข่ายในการพัฒนาคุณภาพยาสมุนไพรในภาคใต้ ใช้ชื่อ “กลุ่มผลิตยาสมุนไพรกลุ่มลังกาสุกะ” โดยใช้โรงงานผลิตยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ เป็นต้นแบบ

นายมูหามะสุกรี มะสะนิง นายกสมาคมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี ผู้นำในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และจัดการทรัพยากรทะเลชายฝั่ง จังหวัดปัตตานี โดยการจัดตั้งชมรมชาวประมงพื้นบ้านปัตตานีเพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแก้ไขปัญหา ได้ประสานงานเพื่อผลักดันให้รัฐบาลออกกฎหมายห้ามใช้เครื่องมืออวนรุนในพื้นที่จังหวัดปัตตานีเป็นแห่งแรกของประเทศ เพื่อลดปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรทะเล และผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นกับวิชาการสมัยใหม่ในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล เช่น การทำปะการังเทียม ทำโครงการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง ส่งผลให้ความอุดมสมบูรณ์กลับคืนมาสู่ท้องทะเล เป็นการสร้างรายได้และความเข้มแข็งให้กับชุมชน

นายแพทย์สุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชินีนาถ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ผู้นำแนวคิดเรื่อง “เวชปฏิบัติครอบครัว” มาประยุกต์ใช้ในการจัดระบบบริการสาธารณสุขโดยอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชน และพัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชินีนาถ อำเภอนาทวี และ อำเภอเทพา จัดตั้ง “ศูนย์ฟื้นฟูคนพิการและผู้ด้อยโอกาสในชุมชน” ที่อำเภอนาทวี จนได้รับการยกย่องเป็นศูนย์ฟื้นฟูคนพิการชุมชนตัวอย่างระดับประเทศ ได้ปฏิรูปโครงสร้างบริการปฐมภูมิด้วย GIS ในอำเภอเทพา เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการบริการได้อย่างสอดคล้องกับสภาพภูมิศาสตร์ โดยปรับเปลี่ยนการแบ่งพื้นที่การบริการจากที่แบ่งตามเขตปกครองมาเป็นการแบ่งตามสภาพทางภูมิศาสตร์และสารสนเทศ (GIS) เพื่อเน้นการเข้าไปให้บริการสาธารณะสุขในพื้นที่ แทนการตั้งรับการรักษาในโรงพยาบาลเพียงอย่างเดียว

ที่มาของข่าว สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก