ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

คอลัมน์: สถานีพัฒนาฯสังคม: กฎหมายว่าด้วยการจัดสภาพแวดล้อมสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ (Accessibility for All Act : AAA)

วันที่ลงข่าว: 12/09/16

การจัดสภาพแวดล้อมสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ (Accessibility) เป็นประเด็นสำคัญยิ่งต่อการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกคนรวมถึงคนพิการ ซึ่งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการของสหประชาชาติ กำหนดให้ประเด็น Accessibility เป็นหลักการพื้นฐานสำคัญที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการ ส่วนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ รวมถึงร่างรัฐธรรมนูญที่เพิ่งได้รับความเห็นชอบจากการลงประชามติ (๗ สิงหาคม ๒๕๕๙) ได้ให้ความสำคัญกับประเด็น Accessibility อย่างมาก โดยให้สภาพแวดล้อมสาธารณะหมายรวมถึง อาคารสถานที่ เทคโนโลยีสิ่งอำนวย ความสะดวก เทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม การสื่อสาร ข้อมูลข่าวสาร บริการ ผลิตภัณฑ์ การเดินทาง และการช่วยเหลือที่สมเหตุสมผล เป็นต้น

 

คณะอนุกรรมาธิการกิจการคนพิการ ใน คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติ แห่งชาติ ได้พิจารณาศึกษา เรื่อง Accessibilityและผลการพิจารณาศึกษาพบว่าประเด็น Accessibility มีแนวโน้มที่จะได้รับความสนใจสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าAccessibility ไม่ได้เป็นประเด็นเฉพาะกลุ่มคน กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เกี่ยวข้องกับทุกคนในสังคม โดยเฉพาะ เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส คณะอนุกรรมาธิการกิจการคนพิการ จึงได้ให้ความสำคัญในการพิจารณาศึกษาเรื่องดังกล่าว โดยเชิญผู้แทนจาก หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาสังคม เข้าร่วมประชุม หารือ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายอย่างน้อย ๔ ประการ ได้แก่

 

๑) การขับเคลื่อนให้ประเด็นAccessibility เป็นวาระแห่งชาติ โดยปรากฏอยู่ใน "ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี" และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ รวมทั้ง ฉบับต่อจากนั้น

 

๒) การจัดทำกฎหมายว่าด้วยการจัดสภาพ แวดล้อมสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ (Accessibility for All Act : AAA) หรือที่เรียกว่า "กฎหมายสามเอ" "กฎหมาย triple A" "AAA Law" และ " Triple A Law " เป็นต้น

 

๓) การบูรณาการ งบประมาณ การดำเนินงาน บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในรูปแบบ "ประชารัฐ" เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม มีคุณภาพ ประสิทธิภาพและรวดเร็ว และ

 

๔) การผลักดัน การบังคับใช้กฎหมาย AAA ให้เกิดการจัด Accessibility เพื่อคนทั้งมวลมีความเป็นสากล เป็นอารยสถาปัตย์ สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นของแต่ละคน สะดวก ปลอดภัย ทั่วถึง เป็นธรรม เท่าเทียม เสมอภาค ทันสมัย และเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ

 

คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติ แห่งชาติ โดยคณะอนุกรรมาธิการกิจการคนพิการ และคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในมิติทางสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงเห็นควรจัดโครงการสัมมนา เรื่อง "เดินหน้า ยุทธศาสตร์ AAA สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน" ขึ้น เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๙ ระหว่างเวลา ๐๘.๐๐-๑๔.๓๐ นาฬิกา โดยมีรายละเอียดของงาน ดังนี้

 

๑.การปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "ยุทธศาสตร์ AAA สู่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของประเทศไทย" โดย นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ๒.การอภิปราย เรื่อง "เดินหน้า ยุทธศาสตร์ AAA สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน" โดย  นายศักดิ์ชัย ยวงตระกูล อดีตอุปนายกคนที่หนึ่ง สภาสถาปนิก (ด้านอาคารสถานที่) ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณ ทหารลาดกระบัง (ด้านระบบคมนาคม) นายทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) (ด้านเทคโนโลยี สารสนเทศ) นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ประธานสมาคม สภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ (ด้านผู้สูงอายุ) นายมณเฑียร บุญตัน รองประธานคณะกรรมาธิการสังคมฯ คนที่หนึ่ง (กฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและมาตรฐาน AAA) ดำเนินรายการโดย นายกฤษณะ ละไล ประธานมูลนิธิ อารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล

 

วัตถุประสงค์เพื่อ ๑.เป็นเวทีสร้างความรู้ความเข้าใจและสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนประเด็น Accessibility ให้เป็นวาระแห่งชาติ นำไปสู่การจัดทำกฎหมายว่าด้วยการจัดสภาพแวดล้อมสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ (Accessibility for All Act : AAA) และเกิดการบูรณาการงาน Accessibility ของ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในรูปแบบ "ประชารัฐ"

 

๒.ระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อประเด็น Accessibility จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

 

๓.สังเคราะห์ข้อมูล ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมสัมมนา พร้อมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะ ต่อประเด็น Accessibility เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

คณะกรรมาธิการมุ่งหวังในการจัดงานครั้งนี้เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนประเด็น Accessibility ให้เป็นวาระแห่งชาติ นำไปสู่การจัดทำกฎหมายว่าด้วยการจัด สภาพแวดล้อมสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ (Accessibility for All Act : AAA) และเกิดการบูรณาการ งานในรูปแบบ "ประชารัฐ" ของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรวมทั้งเพื่อเปิดเวทีในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะ เพื่อรวบรวมและจัดทำข้อเสนอแนะ ต่อประเด็น Accessibility ซึ่งจะได้นำเสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

นายมณเฑียร ให้ข้อคิดเห็น เรื่อง แนวคิด หลักการ และสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องทั้งของประเทศไทยและต่างประเทศไว้ ดังนี้

 

๑.แนวคิดของการสร้างสภาพแวดล้อมที่ทุกคน เข้าถึงและใช้ประโยชน์ (Accessibility) เป็นเรื่องของ สังคมไทยทุกภาคส่วนที่จะต้องร่วมมือและช่วยกันขับเคลื่อน จึงได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือกับ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในโอกาสที่ได้เข้าพบปะเนื่องจาก ได้รับการเลือกตั้งเป็นกรรมการอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิ คนพิการแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ ๒ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๙ ณ ทำเนียบรัฐบาล ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสนใจและสนับสนุน

 

๒.การจัดทำกฎหมายที่มีลักษณะบูรณาการเรื่องการจัดสภาพแวดล้อมที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ ร่วมกัน ที่เรียกว่า พระราชบัญญัติการจัดสภาพแวดล้อมสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ (Accessibility for All Act : AAA)

 

๓.แนวคิดของกระบวนการจัดทำร่างกฎหมาย ว่าด้วยการจัดสภาพแวดล้อมสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้มี ๒ แบบ ดังนี้ ๑.ประมวลกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาไว้ในชุดข้อมูลความรู้หรือจัดทำเป็นคู่มือ ๒.ยกร่างกฎหมายฉบับใหม่โดยการนำเอากฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันมาเชื่อมโยงกัน

 

๔.การผลักดัน AAA ให้อยู่ในวาระแห่งชาติ โดยการนำไปบรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์ ๒๐ ปี ของประเทศไทย และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ ซึ่งได้หารือกับพันเอกวินัย คงสมพงษ์ ที่ปรึกษา ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และนายวิเชียร ชวลิต รองประธานกรรมาธิการ คนที่สองของคณะกรรมาธิการ ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม

 

๕.การกำหนดมาตรฐานทางเว็บไซต์ขององค์การ มหาชน เห็นควรเสนอสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (สรอ.) กำหนดให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาและออกแบบ เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ (The Standard  of Web Content Accessibility Guidelines (WCAG) ๒.๐) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทคจะต้องร่วมมือกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เพื่อจัดทำมาตรฐานเว็บไซต์กับมาตรฐานสิ่งพิมพ์ เนื่องจากมาตรฐานดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่จะอำนวยความสะดวกให้ทุกคน รวมทั้งผู้สูงอายุและคนพิการให้สามารถเข้าถึงและ ใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสารได้อย่างเท่าเทียมกัน

 

๖.การจัดทำมาตรฐานความจำเป็นขั้นพื้นฐาน (Minimum Requirement) สำหรับคนทุกคนตราบใดที่ยังไม่มีหน่วยงานภาครัฐทำหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการ ตราบนั้นก็จะนำมาซึ่งข้ออ้างของหน่วยงานต่างๆ หรือผู้ให้บริการสาธารณะบางแห่งที่จะปฏิเสธหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องการเข้าถึงสภาพแวดล้อมอันเป็นสาธารณะสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ อนึ่ง จะต้องพิจารณาศึกษาว่า สมอ. เคยนำมาตรฐานไปบังคับโดยผลของกฎหมายหรือไม่ และ สมอ. มีแนวคิดเกี่ยวกับการจัดทำมาตรฐานกลางสำหรับการให้บริการหรืออุปกรณ์ที่เป็นสาธารณะอย่างไร

 

๗.การสนับสนุนสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีสิ่งอำนวย ความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ซึ่งดำเนินการ โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ: เนคเทค (National Electronics and Computer Technology Center: NECTEC)  เป็น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคนพิการและผู้สูงอายุโดยตรง ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เคยวิเคราะห์และมีข้อเสนอถึงรัฐมนตรีแล้ว

 

๘.การสนับสนุนงานวิจัย และนำผลงานวิจัย ไปขยายผล ให้ประเทศไทยเกิดการพัฒนาด้านการผลิต ผลงานวิจัยในเชิงเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง รวดเร็ว และ มีประสิทธิภาพ

 

๙.การบูรณาการกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ Accessibility โดยที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ Accessibility อยู่ในหลายกระทรวง  ซึ่งกฎหมายบางฉบับก็ก้าวหน้า บางฉบับก็ล้าหลัง อีกทั้งยังไม่ได้นำมาจัดลำดับเรียบเรียงหมวดหมู่เข้าไว้ด้วยกันไม่ว่าจะด้วยวิธีการนำมาจัดทำเป็น ประมวลกฎหมาย หรือวิธีการยกร่างกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นมา

 

๑๐.ประเทศฟิลิปปินส์มีการตรากฎหมายเกี่ยวกับ คนพิการออกมาหลายฉบับก่อนประเทศไทย  แต่ประสบปัญหา เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายมากกว่าประเทศไทย จึงส่งผล ให้เรื่องของการสร้างสภาพแวดล้อมที่ทุกคนเข้าถึงและ ใช้ประโยชน์ได้ก้าวหน้าไปได้น้อยมาก

 

๑๑.ประเทศญี่ปุ่นมีแนวคิดเรื่องสังคมฐานพุทธมหายานซึ่งมีแนวคิดทางสังคมที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหรือเป็นเอกภาพร่วมกัน (Social Harmony) แตกต่างจากประเทศไทยที่ไม่มีการสอนเรื่องสังคมอยู่เย็นเป็นสุข ร่วมกัน (Inclusive Society) จึงทำให้งานบูรณาการ ไม่ประสบความสำเร็จ

 

๑๒.ปัญหาที่ต้องเร่งทำความเข้าใจและแก้ไข ได้แก่ ๑.กรุงเทพมหานคร ควรยกเลิกการใช้คำว่า "ลิฟต์สำหรับ คนพิการ" และใช้คำว่า "ลิฟต์สำหรับทุกคนแทน" เพราะว่า จะทำให้เป็นข้อจำกัดในเรื่องการของบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ ๒.สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ควรสนับสนุนเรื่องการกำหนดมาตรฐานบริการหรือการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการเข้าถึงบริการโทรคมนาคม ซึ่งคณะอนุกรรมาธิการกิจการคนพิการได้เคยหารือร่วมกับ กสทช. และได้มีหนังสือ สอบถามความคืบหน้ากับ กสทช. แล้ว เป็นที่ทราบดีว่า กสทช. ได้ประกาศหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดให้มีบริการ เสียงบรรยายภาพ (Audio Description: AD) กับคำบรรยาย แบบปิดหรือคำบรรยายภาพแทนเสียง (Closed Captioning: CC) ไปแล้ว จึงเห็นว่า มาตรฐานเหล่านี้ควรจะได้รับการ ประกาศลงไปที่กล่องแปลงสัญญาณ (Set-top Box) ของโทรทัศน์ดิจิทัล (TV Digital) หรือ โทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Phone) ที่ผู้ให้บริการนำมาจำหน่าย ทั้งนี้ หากไม่มีการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอาจจะทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงของทุกคนได้

 

ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่คณะกรรมาธิการ การพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โทร.๐๒-๘๓๑-๙๒๒๕-๖  โทรสาร ๐๒-๘๓๑-๙๒๒๖

 

 

 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์แนวหน้าออนไลน์ วันที่ 10 กันยายน 2559
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก

Fatal error: Call to undefined function drupal_get_path() in /usr/local/www/apache22/data/Braille-new/sites/all/modules/better_statistics/better_statistics.module on line 181