ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

เดินหน้าอาเซียน

วันที่ลงข่าว: 08/09/16

การจัดการอาชีวศึกษาของไทย ถือว่าอยู่ในระดับแนวหน้าของภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ซึ่งหลายประเทศต้องการมาศึกษาการบริหารจัดการ อาทิ การจัดการศึกษาระบบทวิตภาคี คือการเรียนพร้อมทำงานในสถานประกอบการ ทำให้นักศึกษาได้รับรู้เทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ๆ และมีรายได้ระหว่างเรียน ซึ่งประเทศไทยทำได้ดีไม่แพ้ประเทศต้นแบบประเทศเยอรมัน จนเป็นที่ยอมรับในอาเซียน ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้น คือการเปิดหลักสูตรช่างอากาศยาน ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)ในวิทยาลัยที่มีพื้นที่ใกล้เคียงกับสนามบิน 4 แห่ง คือ วิทยาลัยเทคนิค (วท.) ถลาง วท.ดอนเมือง วท.สมุทรปราการ และ วท.สัตหีบ และเตรียมเปิดเพิ่มที่ วท.อุบลราชธานี ในปีการศึกษา 2560 เพื่อรองรับความต้องการของตลาดแรงงานในสาขานี้

นายวณิชย์ อ่วมศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า สอศ. เตรียมปรับหลักสูตรให้เป็นอิงลิชโปรแกรม (EP) ทั้งหมด เพื่อสอดรับกับสภาพการปฏิบัติงานจริง และให้ผู้สำเร็จการศึกษามีความรู้ขอรับใบอนุญาตนายช่างภาคพื้นดิน ของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และองค์การบินสากลในอนาคตได้ โดยจะเพิ่มวิชาในหลักสูตรนี้อีก 3 - 4 วิชา เช่น ภาษาอังกฤษเพื่อการบิน ภาษาอังกฤษที่เป็นศัพท์เทคนิคเฉพาะ หรือทักษะช่างเครื่องบินเบื้องต้น หลักสูตรที่กำลังพัฒนานี้นอกจากจะยึดโยงกับมาตรฐานของกรมการบินพลเรือนแล้ว ยังสอดคล้องกับมาตรฐานการบินสากลของ 3 องค์กร คือ องค์กรความร่วมมือด้านการบินในกลุ่มสหภาพยุโรป (EASA) องค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และสำนักงานบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (FAA) ซึ่งสถานศึกษาจะต้องเลือกมาตรฐานการบินสากลแห่งใดแห่งหนึ่งมาพัฒนาเด็กให้มีมาตรฐานการบินสากลต่อไป ในส่วนของการเรียนการสอน เนื่องจากระยะเวลา 2 ปีอาจไม่เพียงพอ จึงกำหนดให้สถานศึกษาจัดฝึกอบรมเพิ่มให้กับเด็ก

นอกจากหลักสูตรนายช่างอากาศยาน สอศ.ยังมีหลักสูตรใหม่ ที่เป็นความต้องการของตลาดแรงงานให้นักเรียน นักศึกษา เลือกเรียนอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งนับเป็นโอกาสทองของเด็กรุ่นใหม่ ที่จะหันมาเรียนในสายอาชีพมากยิ่งขึ้น

ที่มาของข่าว สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก