ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ศึกษาธิการเร่งจัดทำมาตรฐานครูอาเซียน

วันที่ลงข่าว: 06/09/16

ประเมิน สมศ.ไทย-อาเซียน ปี 60 มุ่งสู่มาตรฐานอุดมศึกษาระดับสากล

 

สมาคมประกันคุณภาพจากยุโรปเตรียมนำร่องประเมิน สมศ. ไทย และ อาเซียน นำร่อง 6 ประเทศ ในปี 2560 หวังมีมาตรฐานเทียบเคียง ช่วยเสริมความเข้มแข็งอุดมศึกษา เทียบชั้นมหาวิทยาลัยระดับโลก

 

พล.ร.ต.วัชระ การุณยวนิช รองผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) กล่าวว่า ไทยและอาเซียนเข้าร่วมโครงการ EU SHARE ซึ่งเกิดจากความร่วมมือกันของเครือข่ายประกันคุณภาพอาเซียน (AQAN) สมาคมประกันคุณภาพจากสหภาพยุโรป (ENQA) และหน่วยงาน DAAD ประเทศเยอรมนี เพื่อช่วยสนับสนุนด้านวิชาการระดับอุดมศึกษาแก่ภูมิภาคอาเซียน ซึ่ง สมศ. ในฐานะตัวแทนประเทศไทยได้ตอบรับการเข้าร่วมนำร่องประเมินหน่วยประเมินคุณภาพภายนอกในโครงการดังกล่าวแล้ว

 

การประเมินคุณภาพการดำเนินงานของหน่วยงานประกันคุณภาพการศึกษาภายนอกระดับอุดมศึกษาของประเทศในกลุ่มอาเซียน จะมีการนำร่องใน 6 ประเทศ ในปี 2560 ได้แก่ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงค์โปร และ ไทย โดยจะได้รับการประเมินจากสหภาพยุโรปโดยเครือข่ายประกันคุณภาพการศึกษาอาเซียน (AQAN) ร่วมกับ DAAD (German Academic Exchange Service) และ ENQA (European Association for Quality Assurance in Higher Education) เพื่อให้มีความเป็นสากล

 

พล.ร.ต.วัชระ กล่าวว่า การประเมินจากยุโรป ประกอบไปด้วย 4 หลักการ ได้แก่ 1) หน่วยงานประกันคุณภาพภายนอกของทั้ง 10 ชาติอาเซียน มีมาตรฐานเทียบเคียงกันได้ 2) คำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้เรียนและสังคมเป็นสำคัญ เป็นการกำหนดมาตรฐานของผู้ประเมิน มีการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาผู้ประเมินภายนอกอย่างสม่ำเสมอ 3) มีการประเมินภายในของแต่ละสถาบันอุดมศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของการประกันคุณภาพภายใน และ 4) กรอบมาตรฐานคุณวุฒิแห่งชาติ คือ กรอบมาตรฐานที่ใช้เป็นเครื่องมือที่แสดงระบบคุณวุฒิและมาตรฐานการวัดการศึกษา ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับการเลื่อนคุณวุฒิระดับหนึ่งไปสู่ระดับที่สูงขึ้น และเทียบผลการเรียนรู้จากการเรียนรู้ระดับต่าง ๆ และช่วยสนับสนุนการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและการเคลื่อนย้ายบุคลากรอาชีพต่าง ๆ ด้วยกระบวนการยอมรับปริญญาและคุณวุฒิการศึกษา รวมทั้งการศึกษาตลอดชีพ ซึ่งหลักการดังกล่าวกำหนดไว้ใน ASEAN Quality Assurance Framework (AQAF)

 

“นอกจากนี้ สหภาพยุโรปจะให้ความร่วมมือทางวิชาการด้านอุดมศึกษาแก่ กัมพูชา ลาว พม่า และ เวียดนาม เพื่อพัฒนาระบบการประกันคุณภาพให้ทัดเทียมกับ 6 ประเทศนำร่อง ทั้งนี้ สหภาพยุโรปเป็นกลุ่มประเทศที่ได้พัฒนาระบบการประกันคุณภาพที่เป็นระบบที่เทียบเคียงกันได้ จนส่งเสริมให้การอุดมศึกษาของสหภาพยุโรปเป็นผู้นำด้านการศึกษา และมีมาตรฐานที่สูง ‘รอง ผอ.สมศ. กล่าว

 

จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยทั่วโลกพบว่า มหาวิทยาลัย 11 แห่ง ใน 100 อันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกนั้น ตั้งอยู่ในสหภาพยุโรป ซึ่งนับเป็นกลุ่มมหาวิทยาลัยที่มีขนาดใหญ่เป็นที่สองรองจากสหรัฐอเมริกา

ที่มาของข่าว http://dlfeschool.in.th
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก