ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ชุมชนต้นแบบแห่งการอยู่ร่วมกัน เปิดโครงการฯ ขับเคลื่อนการปรับ

วันที่ลงข่าว: 17/08/16

รัฐเร่งนโยบายบริการสังคมไม่ว่าผู้สูงวัย คนพิการ รวมตลอดทั้งผู้ด้อยโอกาส เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นให้ได้  อันเป็นการแสดงความเอื้ออาทรต่อเพื่อมนุษย์ โดยที่ห้องประชุมพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ศูนย์ราชการจังหวัดน่าน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ได้เป็นประธานในพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) "น่าน : ชุมชนต้นแบบแห่งการอยู่ร่วมกัน" โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อขับเคลื่อนการปรับสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของคนพิการ เพื่อให้คนพิการ ได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์ในอาคาร สถานที่ และบริการต่างๆ รวมทั้งมีส่วนร่วมกิจกรรมในสังคมอย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไป เมื่อเร็วๆ นี้

 

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และการเสริมสร้างให้ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาสด้วย มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดการเหลื่อมล้ำ การสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการของรัฐ อันเป็นสิทธิพื้นฐานและเป็นเครื่องหมายแสดงความเท่าเทียมของสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จึงได้เร่งขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วน เพื่อรองรับการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลดังกล่าว คือ การเข้าถึงบริการสังคมของคนพิการ โดยการส่งเสริมการจัดสภาพแวดล้อมที่ปราศจากอุปสรรคต่อการมีส่วนร่วมของคนพิการ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ภายใต้วิสัยทัศน์ "คนพิการดำรงชีวิตอิสระร่วมกับทุกคนในสังคมอย่างมีความสุข สามารถเข้าถึงสิทธิอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน"

 

ทั้งนี้ ได้มีการบูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงต่างๆ อาทิ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการกระทรวงสาธารณสุข สถาบันการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ และองค์กรคนพิการ ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนภายใต้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการปรับสภาพแวดล้อม และระบบขนส่งมวลชนที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ เพื่อวางแผนการดำเนินงานในการปรับปรุงสภาพแวดล้อม และจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะที่เอื้อต่อคนพิการให้ครอบคลุม ทั้งต้นทาง คือ บ้านและที่พักอาศัย กลางทาง คือ ระบบขนส่งมวลชน ถนน ทางเดินเท้า และปลายทาง คือ อาคารและพื้นที่สาธารณะ เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน สวนสาธารณะศาสนสถาน และห้างร้านต่างๆ เพื่อให้คนพิการสามารถออกจากบ้านเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ทางสังคม และดำรงชีวิตได้อย่างอิสระ

 

รมว.พม.กล่าวต่อไปว่า กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์(พม.) โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ได้ร่วมกับจังหวัดน่าน เทศบาลเมืองน่าน และหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนโครงการ "น่าน : ชุมชนต้นแบบแห่งการอยู่ร่วมกัน" ซึ่งเป็นโครงการนำร่องขยายพื้นที่ชุมชนตัวอย่างในการปรับปรุงสภาพแวดล้อม และระบบขนส่งมวลชน และการขับเคลื่อนการปรับสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของคนพิการ เพื่อให้คนพิการได้เข้าถึง และใช้ประโยชน์ในอาคาร สถานที่ และบริการต่างๆ รวมทั้งมีส่วนร่วมกิจกรรมในสังคมอย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไป สอดคล้องกับกฎหมายและอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ ทั้งนี้ ได้เริ่มจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว  เขตเทศบาลเมืองน่าน

 

โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ จำนวน 1,000,000 บาท เพื่อปรับปรุงทางลาด ที่จอดรถคนพิการ พื้นผิวต่างสัมผัส ป้ายสัญลักษณ์/ข้อมูล

 

และศูนย์บริการข้อมูล โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2558 เป็นต้นมา นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากเทศบาลเมืองน่านและกรมการท่องเที่ยวกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเพื่อจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการในที่สาธารณะอื่นๆ

 

รวมถึงความร่วมมือจากภาคเอกชน องค์กรคนพิการ ประชาชนในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี นอกจากนี้ ในปี 2559 ได้ส่งเสริมชุมชนปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเข้าถึง และการใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิต และการท่องเที่ยวของคนพิการผู้สูงอายุและคนทุกวัย โดยนำร่องที่วัดสวนตาลได้แก่ทางลาดเข้าวิหารห้องน้ำ และที่จอดรถคนพิการ รวมทั้งมีแผนขยายการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนพิการ และผู้สูงอายุในเส้นทางท่องเที่ยวเมืองเก่าน่าน

 

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้  ตนยังไปเป็นประธานในพิธี Kick off เปิดตัวโครงการ "น่าน : ชุมชนต้นแบบแห่งการอยู่ร่วมกัน" ณ ข่วงเมืองน่าน ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ให้ความสำคัญกับกลุ่มคนพิการ ซึ่งเห็นได้จากการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่า ด้วยสิทธิของคนพิการ และการผลักดันกฎหมายต่างๆ เพื่อให้คนพิการได้รับสิทธิประโยชน์และความคุ้มครองคนพิการ เพื่อมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม การออกแบบที่สากลและเป็นธรรม หรือ Universal design เป็นการออกแบบเพื่อเติมเต็มความต้องการของมนุษย์ หรือเรียกว่า การออกแบบสำหรับทุกคน (design for all) ซึ่งคนพิการ และผู้สูงอายุควรมีส่วนร่วมในสังคม ที่สภาพแวดล้อมทางกายภาพสามารถใช้ประโยชน์ได้ โดยคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมอย่างเต็มศักยภาพมากที่สุด

 

การทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเมืองอนาคต เพื่อทุกคน โดยเฉพาะคนพิการและผู้สูงอายุ ทำให้สามารถเข้าถึงบริการต่างๆ และที่สาธารณะได้อย่างไม่มีอุปสรรค เพื่อเปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง และเปิดกว้างให้ทุกคนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และการจัดพิธี Kick off เปิดตัวโครงการครั้งนี้ เป็นการแสดงพลังที่มุ่งมั่นจะสร้างเมืองอนาคตแห่งการอยู่ร่วมกันของทุกคน และร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการสู่ความเมืองต้นแบบอารยสถาปัตย์อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จะร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เร่งขับเคลื่อนงานด้านต่างๆ เพื่อส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการต่อไป

 

ทั้งหมดดังข้างต้นนั้นเป็นคำกล่าวของ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พม. เราในฐานะประชาชนคนหนึ่ง เห็นด้วยกับรัฐบาล และท่าน รมว.พม. เป็นอย่างยิ่ง ในโยบายนี้ เพราะว่าทุกคนเกิดมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง คนสูงอายุ คนพิการ คนด้อยโอกาส สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ด้วยความมีเมตตาต่อกัน โอบอ้อมอารีต่อกัน ไม่ทอดทิ้งกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาล และสังคมเอาใจใส่ดูแลกัน ย่อมแสดงให้เห็นว่าบ้านเมืองนั้นเป็นเมืองศิวิไลซ์อย่างแท้จริง สังคมของบ้านนั้นเมืองนี้ก็จะมีแต่ความสงบสุขตลอดกาลนาน ย่อมเป็นที่ชื่นชมของชาวโลก....คนเราเกิดมาไม่ว่าคนจน คนรวย มี 100 ล้านบาท พันล้านบาท แสนล้านบาท ตายแล้วก็เอาไปไม่ได้ เสียสละช่วยกันสร้างสังคมให้มีความสุข มีความอบอุ่นใจ น่าอยู่กันดีกว่า...

 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์บ้านเมืองออนไลน์ วันที่ 16 สิงหาคม 2559
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก