ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

รายงานพิเศษ : ป้องกันแก้ไขความพิการบนใบหน้าแต่กำเนิดในเด็กทารก

วันที่ลงข่าว: 11/08/16

ปัจจุบันการแพทย์ไทยมีความก้าวหน้า ได้รับการยอมรับระดับนานาชาติในหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือ การเป็นศูนย์กลางของการรักษาความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งได้ช่วยแก้ไขปัญหาแก่เด็กและผู้พิการ ให้มีโอกาสเข้าถึงการผ่าตัดรักษาที่มีคุณภาพ รายละเอียดเป็นอย่างไร

ความพิการบนใบหน้าที่เกิดขึ้นในบุคคล ทั้งตั้งแต่แรกคลอด หรือเกิดขึ้นในภายหลังจากการติดเชื้อ เนื้องอก รวมทั้งอุบัติเหตุ ได้ส่งกระทบต่อร่างกาย จิตใจ ของตัวผู้ป่วยเอง ต่อครอบครัว โดยเฉพาะมารดา ที่อุ้มท้องมา 9 เดือน ด้วยความหวังจะได้เลี้ยงดูลูกอันเป็นที่รักและความหวัง ในสภาพร่างกายครบ 32

ความพิการบนใบหน้า ในกรณีตั้งแต่แรกเกิด ส่วนใหญ่พบในครอบครัวที่ฐานะไม่ดี มารดาได้รับสารอาหารไปหล่อเลี้ยงทารกไม่เพียงพอ ขาดการได้รับวิตามิน นอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากการได้รับยาทำแท้ง หรือยาอื่นๆ ครรภ์ได้รับการกระแทกกระเทือน การเกิดอุบัติเหตุ การติดเชื้อไวรัส หรือเชื้อโรคต่างๆ ตลอดจนปัจจัยอื่นๆ เช่น ยีน หรือ โครโมโซม ผิดปกติ ขัดขวางการสร้างเซลล์ของทารกในครรภ์ ล้วนทำให้เกิดความพิการขึ้น เช่น อาการป่วยด้วยโรคงวงช้างซึ่งมีเนื้องอกนูนขึ้นมาช่วงด้านหน้าของใบหน้า / โรคใบหน้าแหว่ง / โรคกะโหลกศรีษะเชื่อมติดก่อนกำหนด ซึ่งเหล่านี้ในการรักษาต้องใช้เครื่องมือทันสมัย และมีค่าใช้จ่ายสูงมาก

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ จรัญ มหาทุมะรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญศัลยกรรมตกแต่ง และหัวหน้า ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ กล่าวว่า ปัจจุบันโรคเหล่านี้ยังพบในเด็กไทยต่อเนื่อง แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ช่วยให้ผู้ป่วยยากไร้เข้าถึงการรักษา เปรียบเสมือนการชุบชีวิตใหม่ให้เด็ก ได้ใช้ชีวิตต่อไปในสังคมได้อย่างปกติ

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ก่อเกิดเป็น "ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ" หน่วยงานในสังกัดโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย" ได้ดูแลผู้ป่วยจากอาการดังกล่าวมานานนับ 28 ปี ช่วยให้ผู้ป่วยยากไร้เข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพมาตรฐานหลายพันราย ซึ่งหากได้รับการผ่าตัดรักษาจุดที่ผิดปกติตั้งแต่ยังเล็ก ก็จะเป็นปกติได้ง่ายกว่ารอตอนโต

อย่างไรก็ตามเพื่อป้องกันโรคที่จะเกิดขึ้นแก่บุตร ผู้ที่เป็นมารดาควรวางแผนก่อนตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันการรับประทานยาที่มีผลกระทบต่อตัวอ่อนช่วง 1-2 เดือนแรก ซึ่งส่วนใหญ่จะยังไม่รู้ว่าตั้งครรภ์แล้ว นอกจากนี้ควรฝากครรภ์เพื่อให้มีโอกาสได้รับวิตามินบำรุง การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงมลภาวะเป็นพิษ เบื้องต้นก็จะช่วยลดความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันทางศูนย์ยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีจิตกุศล ร่วมทำบุญด้วยการบริจาคสิ่งของ หรือเงิน สมทบทุนช่วยเหลือผู้ป่วยได้อีกช่องทางหนึ่ง เพื่อร่วมเป็นกำลังใจแก่ผู้ป่วยและครอบครัวด้วย

ที่มาของข่าว สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก