ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

งานสัมมนาวิชาการระดับชาติด้านคนพิการ ครั้งที่ 8 ผุดต้นแบบป้ายรถเมล์-ที่พักอาศัยรองรับคนพิการ

วันที่ลงข่าว: 10/08/16
“ทุกชีวิตมีค่า ความเท่าเทียมเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข” แนวคิดหลักของผู้กำกับดูแล และส่งเสริมให้คนพิการไทย มีคุณภาพชีวิตที่ดีเทียบเท่ากับคนปกติทั่วไป การจัดงานสัมมนาวิชาการระดับชาติด้านคนพิการ ครั้งที่ 8 ประจำปี 2559 เป็นเวทีที่สำคัญที่ภาครัฐจะสามารถรับฟัง แลกเปลี่ยนความรู้ รวมถึงสถาปัตยกรรม และนวัตกรรมที่จะช่วยสร้างความเท่าเทียมทางสังคมอย่างยั่งยืน
 
“นวัตกรรมลดความเหลื่อมล้ำของสังคม” (Innovation for Social Equality)
นายสมชาย เจริญอำนวยสุข อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ตามแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการและผู้สูงอายุในฉบับปัจจุบัน ได้มุ่งเน้นการต่อยอดยุทธศาสตร์จากพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ มาสู่การสร้างสังคมที่เอื้ออำนวยต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของคนพิการ รวมถึงผู้ที่มีข้อจำกัดในการดำรงชีวิตประจำวัน เกิดงานพัฒนาสภาพแวดล้อม และปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก ที่ผ่านมาพบว่าคนพิการและผู้สูงอายุอีกจำนวนมาก ยังคงเข้าไม่ถึงสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการสาธารณะได้เท่าที่ควร โดยเฉพาะกลุ่มคนพิการที่อาศัยในภูมิลำเนาที่ห่างไกลเขตเมือง หรือ หากอยู่ในเมือง แต่มีรายได้น้อย ภารกิจสำคัญของ พก. และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังคือการนำความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสังคม และ ลดความเหลื่อมล้ำ
 
 
 
การจัดสัมมนาวิชาการระดับชาติด้านคนพิการ ครั้งที่ 8 ประจำปี 2559 ซึ่งพก. และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เป็นเจ้าภาพการจัดงานร่วมกัน ได้กำหนดให้มีการดำเนินการจัดสัมมนาวิชาการระดับชาติด้านคนพิการ ครั้งที่ 8 ประจำปี 2559 เพื่อนำเสนอผลงานวิชาการและนิทรรศการ ระดับนานาชาติด้านวิศวกรรมฟื้นฟูฯ รวมทั้งเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการระหว่างผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับผู้ทรงคุณวุฒิในระดับสากล โดยมีหัวข้อการประชุมคือ “นวัตกรรมลดความเหลื่อมล้ำของสังคม” (Innovation for Social Equality) ซึ่งภายในงานมีการจำลองสถาปัตยกรรมเพื่อคนทั้งมวล หรือ universal design ซึ่งเป็นการออกแบบที่คำนึงถึงการใช้งานให้คุ้มค่า รองรับการใช้งานสำหรับทุกคน โดยคำนึงถึงโอกาสการใช้งานได้อย่างเท่าเทียมกัน เช่น คนสูงอายุ คนป่วย สตรีตั้งครรภ์ คนแคระ เด็กเล็ก ที่มากับรถเข็นเด็ก คนพิการประเภทต่าง ๆ ไม่ว่า ตาบอด หูหนวก แขนขาร่างกายพิการ คนพิการทางปัญญาทางจิต คนที่อ่านหนังสือไม่ออก ฯลฯ แต่ถึงแม้บุคคลเหล่านี้ จะมีข้อจำกัดทางร่างกาย ทางปัญญา ทางจิตใจ แต่ก็เป็นบุคคล ในสังคม สังคมจึงควรรับผิดชอบดูแล ให้สามารถอยู่ในสังคมร่วมกับบุคคลทั่วไป ได้อย่างมีความสุขตามอัตภาพของแต่ละคน เช่น การจัดให้มีทางลาดขึ้นลงทางเท้า และอาคารสถานที่สาธารณะต่าง ๆ ให้กับผู้พิการที่ใช้รถเข็น หรือบล็อกพื้นนำทางเดินสำหรับคนตาบอด ทั้งนี้ ก็เพื่อให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตทำกิจกรรมภายนอกบ้านได้โดยสะดวกและปลอดภัย
 
 
 
“ไม่ใช่แค่ให้โอกาส แต่คนพิการคือพลเมืองที่มีคุณค่าและเป็นกำลังสำคัญ ร่างกายเป็นเพียงองค์ประกอบ แต่สิ่งสำคัญคือ หัวใจ การทำให้เขาเหล่านั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีเทียบเท่าคนปกติทั่วไปจึงเป็นภารกิจที่สำคัญ รวมถึงการออกแบบสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ให้รองรับการใช้งานสำหรับคนทุกคน ก็จะเป็นหนึ่งช่องทางที่จะเสริมสร้างความเท่าเทียมของผู้พิการได้อย่างยั่งยืน” นายสมชาย กล่าว
 
 
 
อย่างไรก็ตามภายหลังการประชุมสัมมนาครั้งนี้เสร็จสิ้น สิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าการสร้างความเท่าเทียมทางสังคมกำลังจะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในอนาคตอันไกล นอกจากแบบจำลองสถาปัตยกรรมที่ทางกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้จำลองไว้ ยังมีผลงานนวัตกรรมของนักศึกษาและประชาชนทั่วไปที่ร่วมกันออกแบบสำหรับเสริมให้คุณคนพิการ และผู้ด้อยโอกาสทางสังคม สามารถลุกขึ้นยืน อยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมได้อย่างสมบูรณ์
ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์ มติชนออนไลน์ วันที่ 8 สิงหาคม 2559
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก