ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

มธ. ผลิต 2 นวัตกรรมฟื้นฟู ผู้พิการทางการเคลื่อนไหว

วันที่ลงข่าว: 09/08/16

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ เปิดตัวนวัตกรรมฟื้นฟูรักษา ผู้พิการทางการเคลื่อนไหว อันได้แก่ "นวัตกรรมชุดถอดประกอบรถเข็นคนพิการแบบใช้ไฟฟ้า" นวัตกรรมที่จะทำให้การเดินทางของผู้ป่วยที่ใช้รถวีลแชร์เปลี่ยนไป เพียงแค่ออกแรง "บิด" คันเร่ง และ "นวัตกรรมเครื่องช่วยฝึกเดินด้วยการช่วยพยุงน้ำหนักบางส่วน" นวัตกรรมที่จะช่วยให้ผู้ป่วยที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต กลับมาเดินได้อีกครั้งและลงน้ำหนักเท้าได้เสมือนคนปกติ เพียง "ฝึกเดิน" บนลู่วิ่งเป็นประจำ วันละ 20-30 นาทีทั้งนี้ ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้พิการที่มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงการฟื้นฟูรักษาได้ในราคาประหยัด ควบคู่ไปกับการช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนของบุคลากรทางการแพทย์และนักกายภาพบำบัด ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการนำเข้าจากต่างประเทศ และลดค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วยได้ อย่างไรก็ตาม จากสถิติผู้พิการทางการเคลื่อนไหวของไทยในปัจจุบัน มีจำนวนสูงถึง 857,655 คน ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าว ได้รับรางวัลจากเวที "มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ" เมื่อปีที่ผ่านมา

 

ผศ.ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ที่ปรึกษา

 

โครงการ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้พิการทางการเคลื่อนไหว จำนวนสูงถึง 850,740 คน ซึ่งผู้พิการส่วนใหญ่นอกจากจะสูญเสียความสามารถทางร่างกายแล้ว ยังมีความยากลำบากในการเคลื่อนไหวโดยไม่สามารถเดินทางไปที่ไกลๆ ด้วยตนเองได้ ในขณะเดียวกันจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ ด้านการฟื้นฟูและกายภาพบำบัดในประเทศไทยก็มีอยู่จำกัด ประกอบกับมีค่าใช้จ่ายสูง อันเนื่องมาจากต้นทุนในการนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศที่มีราคาสูงถึง 4-10 ล้านบาท จึงส่งผลกระทบให้ผู้ป่วยที่มีรายได้น้อยขาดโอกาสในการฟื้นฟูร่างกาย ดังนั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันการศึกษาที่มุ่งศึกษาวิจัย ค้นคว้า และพัฒนานวัตกรรมที่ทันสมัยและเอื้อประโยชน์แก่สังคม จึงได้คิดค้นต้นแบบนวัตกรรมที่ผู้พิการสามารถเข้าถึงการฟื้นฟูรักษาได้ในราคาประหยัด ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

 

นวัตกรรมชุดถอดประกอบรถเข็นคนพิการแบบใช้ไฟฟ้า (Power add on) นวัตกรรมที่จะทำให้การเดินทางของผู้ป่วยเปลี่ยนไป ที่สามารถอำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วยที่ใช้รถวีลแชร์ (Wheel Chair) เพียงแค่ออกแรง "บิดคันเร่ง" ผู้ป่วยก็จะสามารถเคลื่อนที่ได้ในระยะที่ไกลขึ้น โดยที่ไม่รู้สึกเหนื่อยล้า แม้พื้นถนนจะมีลักษณะขรุขระหรือลาดชัน ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าวเป็นชุดถอดประกอบที่มีต้นกำลังเป็นมอเตอร์ไฟฟ้าซึ่งติดตั้งอยู่ที่ล้อ ที่มีจุดเด่นคือผู้พิการสามารถนำนวัตกรรมมาติดตั้งกับวีลแชร์คันเดิมของผู้ป่วยได้ด้วยตัวเอง ซึ่งเมื่อประกอบ

 

แล้วเสร็จจะมีลักษณะคล้ายรถจักรยานสามล้อ พร้อมกันนี้ยังสามารถถอดประกอบ หรือ พับเก็บเข้าไปในรถโดยสารสาธารณะ ตลอดจนลิฟต์ขนาดเล็กได้อย่างสะดวก โดยล่าสุด ทางสโมสรโรตารี่สากล (ภาคใต้) ได้ขอให้ศูนย์ออกแบบและพัฒนาต้นแบบทางวิศวกรรมอย่างสร้างสรรค์ (CED2) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. ทำการสั่งผลิตให้จำนวน 40 คัน เพื่อใช้ในการบริจาคยังสถานพยาบาลต่างๆ ที่มีความต้องการ

 

นวัตกรรมชุดฝึกเดิน ด้วยการพยุงน้ำหนักบางส่วน (TU GAIT TRAINER) นวัตกรรมที่จะช่วยให้ผู้ป่วยที่สูญเสียการทรงตัว

 

เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต จากภาวะโรคหลอดเลือดสมองที่ไปเลี้ยงสมองเกิดการแตกหรือตีบ ซึ่งส่งผลให้สมองขาดอาหารและออกซิเจน จนทำลายเซลล์สมองทำให้ระบบประสาทในส่วนควบคุมเสียหายไม่สามารถควบคุมหรือสั่งการร่างกายได้ในเวลาต่อมา ให้สามารถกลับมาเดินได้อีกครั้ง เพียงผู้ป่วยขึ้นไปยืนบนเครื่องฝึกเดิน พร้อมกับรัดสายช่วยพยุงน้ำหนัก และจับราวหัดเดินให้กระชับ จากนั้นระบบจะฝึกให้ผู้ป่วยก้าวเดินอย่างช้าๆ คล้ายกับการเดินอยู่บนลู่วิ่ง เพื่อเป็นการกระตุ้นข้อต่อต่างๆ ทั้งข้อเข่าและข้อเท้าของผู้ป่วยเกิดความคุ้นเคย ตลอดจนมีท่วงท่าการเดินหรือการลงน้ำหนักเท้าเสมือนคนปกติ โดยผู้ป่วยควรฝึกเดินเป็นประจำ เฉลี่ยวันละ 20-30 นาที เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดีนวัตกรรมดังกล่าว มีราคาต้นทุนอยู่ที่ 600,000 บาท ซึ่งมีราคาถูกกว่าท้องตลาดในรุ่นใหญ่ที่มีการควบคุมซับซ้อนถึง 10 เท่า พร้อมกันนี้ยังมีแผนวางขายสู่ท้องตลาดเพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึงการรักษาอีกด้วย ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าวเป็นผลงานการวิจัยร่วมกันระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์สาขาวิศวกรรมทางการแพทย์ สาขาวิศวกรรมเครื่องกล และคณะสหเวชศาสตร์ สาขาวิชากายภาพบำบัด โดยอาจารย์ ดร.พัชรี คุณค้ำชู

 

"ทั้งนี้ จากการเก็บสถิติข้อมูลคนพิการทางการเคลื่อนไหว ตั้งแต่ปี 2537-

2558 ของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่าจำนวนผู้พิการมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี โดยข้อมูลล่าสุดในเดือนธันวาคม 2558 มีจำนวนผู้พิการทางการเคลื่อนไหวรวมทั้งสิ้น 857,655 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 10% เมื่อเทียบจากเดือนธันวาคม 2557 ที่มีจำนวนผู้พิการประมาณ 780,782 คน แต่ในขณะเดียวกันกลับมีเครื่องมือเพื่ออำนวยความสะดวก สำหรับผู้พิการทางการเคลื่อนไหวน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วย ดังนั้น การออกแบบกลไกสำหรับเครื่องช่วยฝึกเดินและเคลื่อนไหวร่างกายเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับนักประดิษฐ์ เพราะต้องอาศัยศาสตร์ความรู้ด้านวิศวกรรมและด้านการแพทย์รวมเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างเครื่องมือที่ตอบสนองความต้องการของหลักการฟื้นฟูตามหลักวิชาทางการแพทย์ เพื่อประโยชน์ในการบำบัดฟื้นฟูและกระจายสู่ผู้ป่วยที่ขาดโอกาสในการเข้ารับการรักษาได้อย่างทั่วถึง ทั้งนี้ นวัตกรรมเพื่อผู้พิการทั้ง 2 ผลงาน ดังกล่าวสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ ในกลุ่มนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ด้านวิทยาศาสตร์ เภสัชศาสตร์และการแพทย์เพื่อคนพิการ ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ เมื่อปีที่ผ่านมา" ผศ.ดร.บรรยงค์ กล่าว

 

สำหรับสถานพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุขชุมชน ตลอดจนประชาชนที่สนใจนวัตกรรมฟื้นฟูผู้พิการทางการเคลื่อนไหว สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ.ศูนย์รังสิต โทรศัพท์ 0-2564-3001 เว็บไซต์ http://me.engr.tu.ac.th หรือติดต่องานสื่อสารองค์กร มธ. ศูนย์รังสิต โทรศัพท์ 0-2564-4493

 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์บ้านเมืองออนไลน์ วันที่ 5 สิงหาคม 2559
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก