ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

หยิบพลังประชารัฐยกระดับคุณภาพชีวิตมิติใหม่จ้างงาน-สร้างอาชีพผู้พิการ 10,000 อัตรา

วันที่ลงข่าว: 04/08/16

กลายเป็นมิติใหม่ของการจ้างงานคนพิการ เมื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ วิชาการ และเอกชน ต่างพร้อมใจกัน นำนโยบาย "ประชารัฐ" ที่เน้นบูรณาการพลังร่วมจากทุกภาคส่วน มาผนวกรวมกับ "แผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแบบครบวงจร"  หวังลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ด้วยการสร้างอาชีพให้ผู้พิการและผู้ทุพพลภาพไม่น้อยกว่า 10,000 อัตรา ภายในสิ้นปี 2559 ภายใต้โครงการ "สานพลังสู่มิติใหม่ สร้างงาน สร้างอาชีพคนพิการ 10,000 อัตรา" ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจภายในประเทศได้มากถึง 1,000 ล้านบาท

 

"ทำได้ ทำง่าย ไม่ต้องรอ" คือคำขวัญปลุกพลังของกิจกรรมนี้ ที่ กระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านคนพิการอีกกว่า 20 องค์กร และภาคประชาสังคม ใช้เป็นกลยุทธ์เร่งสร้างความร่วมมือทั้งฝั่งผู้ว่าจ้างและผู้พิการ ให้เกิดการขยายผลจ้างงานผู้พิการเพิ่มขึ้นอีก 3,000 คน  ใน 6 องค์กรวิชาชีพ ได้แก่ หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย และบริษัทเอกชนชั้นนำกว่า 200 องค์กร จากเป้าหมายที่วางไว้ 10,000 คน

 

สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สสส.โดยแผนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ ได้สนับสนุนแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแบบครบวงจร ภายใต้มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ซึ่งริเริ่มและประสานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบริษัทเอกชน 88 องค์กร ให้ช่วยกันขับเคลื่อนจนเกิดการจ้างงานและส่งเสริมอาชีพผู้พิการกว่า 1,277 อัตรา ในปี 2559 ถือเป็นมิติใหม่การจ้างงานและสร้างอาชีพให้ผู้พิการ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานในมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ  โครงการฮิวแมนสเตชันเพื่อผลิตนักดนตรีคนพิการ อาชีพนวดตาบอด และพัฒนาทักษะการผลิตสื่อของคนหูหนวก เป็นต้น

 

รวมถึงการพัฒนารูปแบบการทำงานจิตอาสา และการรณรงค์ให้ความช่วยเหลือผู้พิการ ที่อดีตเคยเป็นจิตอาสาสู่การเป็นอาชีพนักพัฒนาสังคมและนักรณรงค์ที่มีลักษณะเพื่อนช่วยเพื่อน(พิการ) ทำให้คนพิการได้ทำงานที่มีคุณค่า มีรายได้ มีอิสระมีศักดิ์ศรี และพึ่งพาตนเองได้

 

"เราพบว่าบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ ต่างมีความพึงพอใจต่อผลงานของคนพิการ และรู้สึกภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม"ผู้จัดการกองทุน สสส. ระบุขณะที่  พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ทางกระทรวงพร้อมอำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจตามความมุ่งหมายของโครงการในข้างต้น รวมไปถึงการปฏิบัติตามกฏหมายจ้างงานตามมาตรา 33 ซึ่งสถานประกอบการไม่เพียงแต่จ้างผู้พิการทำงานตรงกับบริษัท แต่ยังสามารถจ้างผู้พิการให้ทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะในชุมชนหรือภูมิลำเนาได้ อีกด้วย ขณะเดียวกันจะส่งเสริมให้เอกชนเปิดพื้นที่ให้ผู้พิการสามารถประกอบอาชีพอิสระตามมาตรา 35 ได้  โดยกระทรวงได้มอบนโยบายนี้แก่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว เพื่อสนับสนุนให้เกิดจ้างงานคนพิการได้ 10,000 อัตรา ภายในปี 2559

 

และเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เผยสถานการณ์การจ้างงานผู้พิการและผู้ทุพพลภาพตามกฎหมายที่ยังขาดอีกหลายตำแหน่งงานว่า  ตามกฏหมายกำหนดให้สถานประกอบการรับคนพิการเข้าทำงานในอัตราส่วนลูกจ้างต่อคนพิการ 100 : 1 ทำให้ปัจจุบัน สถานประกอบการต้องจ้างผู้พิการตามกฎหมายถึง 55,283 ตำแหน่ง แต่ขณะนี้มีการจ้างผู้พิการและผู้ทุพพลภาพเข้าทำงานเพียง 34,383 ตำแน่ง หรือร้อยละ 62 เท่านั้น

 

"หากสถานประกอบการใดไม่สามารถจ้างคนพิการได้ครบ ก็ต้องส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในอัตรา 109,500 บาท ต่อคนต่อปี"รมว.พม. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมไว้เป็นทางเลือกให้สถานประกอบการตัดสินใจ.

 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ออนไลน์ วันที่ 4 กรกฎาคม 2559
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก