ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

รายงานพิเศษ : สธ.เดินหน้าแก้ปัญหาจำนวนและคุณภาพประชากรไทยที่กำลังเข้าขั้นวิกฤติ

วันที่ลงข่าว: 25/07/16

กระทรวงสาธารณสุข เดินหน้าแก้ปัญหาจำนวนและคุณภาพประชากรไทย ที่กำลังเข้าขั้นวิกฤติเพื่อคงไว้ซึ่งศักยภาพการแข่งขันของประเทศ แต่จะดำเนินการอย่างไรนั้น ติดตามได้จากรายงาน ประเทศไทยได้ผ่านยุคเบบี้บูมเมื่อปี 2506 หรือยุคที่มีเด็กเกิดใหม่ปีละกว่าล้านคน จากความสำเร็จที่เกินคาด ในการรณรงค์วางแผนครอบครัวให้มีลูกเพียง 2 คนต่อหนึ่งครอบครัว ทำให้อัตราการเกิดของเด็กลดลงอย่างรวดเร็ว และไม่กระเตื้องขึ้นอีกเลย ล่าสุดปีนี้(2559) คาดว่าไทยจะมีเด็กเกิดใหม่ไม่ถึง 700,000 คน หรือคิดเป็น 1.6 ของอัตราเจริญพันธุ์รวม ซึ่งเป็นอัตราที่ไม่เพียงพอต่อการทดแทนแรงงานเดิมที่กำลังจะกลายเป็นผู้สูงอายุในอนาคต ถ้าจะให้เพียงพอต้องมีอัตราเจริญพันธุ์รวมที่ 2.1 ซึ่งความเปลี่ยนแปลงของสังคมปัจจุบัน คนไม่ค่อยแต่งงาน หรือแต่งงานก็ไม่มีบุตร ส่วนที่มีบุตรมักเกิดจากการท้องที่ไม่ได้เตรียมตัว เด็กที่คลอดออกมาจึงมีเกณฑ์การเจริญเติบโตทั้งร่างกายและสมองที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ทำให้ไทยต้องเผชิญกับปัญหาหนักด้านทรัพยากรบุคคล คือ “มีคนน้อย แถมด้อยคุณภาพ” เพื่อแก้ปัญหานี้ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จึงได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2560-2569 ขึ้น แบ่งการทำงานเพื่อแก้ปัญหา 2 เรื่องหลัก คือเรื่องความพอเพียงของประชากร และเรื่องคุณภาพของประชากร

( "จากข้อมูลและการวิเคราะห์ว่าประชากรของเราเพียงพอมั้ย ยืนยันได้เลยว่าเราไม่เพียงพอ ข้อสรุปของคณะกรรมการก็คือ เราก็เกิดน้อย ด้อยคุณภาพ ฉะนั้นยุทธศาสตร์จะแก้ปัญหาให้การเกิดพอเพียง ถึงแม้อัตราการเจริญพันธุ์รวมจะไม่เพิ่ม แต่ก็ต้องไม่ลดต่ำลงกว่า 1.6 แต่จะทำอย่างไรให้มีคุณภาพ " )

นั่นคือเสียงของ นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย ที่กล่าวถึงยุทธศาสตร์แก้ปัญหาความพอเพียงของประชากรไทย ที่คงทำได้แค่คงอัตราเดิมไม่ให้ลดลงไปกว่านี้ เพราะการเพิ่มเป็นเรื่องยากเห็นได้จากบทเรียนประเทศพัฒนาแล้วอย่างสิงคโปร์ ที่ทำทุกวิถีทางมาหลายปีแต่ก็ไม่อาจเพิ่มอัตรการเกิดได้ จนต้องหันมานำเข้าคนคุณภาพจากประเทศอื่นๆ ไปเป็นประชากรของประเทศแทน ดังนั้นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญจากนี้ คือทำอย่างไรให้ประชากรที่มีน้อยอยู่แล้ว กลายเป็น “เล็กพริกขี้หนู” ไม่ใช่ด้อยคุณภาพเช่นปัจจุบัน จึงพุ่งเป้าไปที่การเสริมคุณภาพประชากร แบ่งการทำงานเป็นหลายระยะ ตั้งแต่เตรียมความพร้อมร่างกายหญิงไทยวัยเจริญพันธุ์ ให้มีสารอาหารและวิตามินสำคัญ โดยเฉพาะเหล็กและโฟลิค เพื่อให้พร้อมเสมอหากเกิดท้องแบบไม่ได้วางแผน ก็ตัดปัญหาเรื่องเด็กพิการแต่กำเนิดได้ทันที โดยเริ่มให้ยาที่เป็นวิตามินสำคัญแก่เด็กหญิงทันทีที่เริ่มมีประจำเดือน ซึ่งเริ่มให้มาแล้ว 2 ปี แต่กลับพบว่าเด็กไม่ชอบกิน ทั้งที่เป็นสิทธิประโยชน์บริการฟรีในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

( “เราแจกยาในหญิงวัยเจริญพันธุ์เพื่อแก้ปัญหาพิการแต่กำเนิด มันต้องได้โฟลิคที่พอเพียงก่อนการปฏิสนธิ 6 สัปดาห์ ซึ่งเราไม่รู้ว่าปฏิสนธิเมื่อไหร่ ก็ต้องให้ทุกคนไปเลย ให้เมื่อเจริญพันธุ์ ในผู้หญิงก็คือให้เมื่อมีประจำเดือน มีประจำเดือนก็คือพร้อมตั้งครรภ์ เราให้ยามา 2-3 ปีแล้ว แต่ มันก็แพง ก็ให้ อภ.ผลิตปีนี้ UC สปสช.ก็ให้เป็นสิทธิประโยชน์ฟรี ฟรีแต่ไม่กิน ต้องหาวิธีให้อยากกิน คนไม่ค่อยรู้ ก็ต้องทำโปรโมท" )

นอกจากนี้ ยังมีระยะดูแลเด็กตั้งแต่ในท้องจนสิ้นสุดพัฒนาการด้วยการปรับเปลี่ยนคู่มือการเลี้ยงลูกเล่มสีชมพูเวอชั่นใหม่หลังไม่ได้ปรับมานานถึง 20 ปี จึงมีเนื้อหาหลายอย่างที่ปฏิวัติความเชื่อเดิมในการเลี้ยงเด็กที่ประชาชนไม่เคยรู้มาก่อน สามารถหาอ่านได้จากคู่มือเลี้ยงลูกเล่มสีชมพู หรือที่แอปพลิเคชันคุณลูก แนะนำการเลี้ยงลูก อาหารเสริมต่างๆ เพื่อให้เด็กเติบโตสมวัย ได้มาตรฐานองค์การอนามัยโลก ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2560-2569 ขณะนี้ได้ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีไปแล้วและคาดว่าจะเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พิจารณาได้ก่อนเดือนกันยายนนี้ และหากได้นำมาใช้จริงภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะพ่อแม่ทุกคน เลี้ยงลูกให้เป็นคนที่มีความสูงทั้งร่างกาย สติปัญญาและความสามารถแล้ว ก็เชื่อว่าแม้อนาคตไทยจะมีประชากรน้อย แต่ศักยภาพการแข่งขันของไทยก็จะไม่แพ้ชาติใดในโลก

ที่มาของข่าว สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก